วว. แนะ เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพิ่มมูลค่า มังคุด แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด จากผลกระทบโควิด

วว. แนะ เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพิ่มมูลค่า มังคุด แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด-การส่งออกจากผลกระทบโควิด-19

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะนำผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ ช่วยเพิ่มมูลค่า “มังคุด” มุ่งแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรล้นตลาดและปัญหาส่งออกมังคุดจากผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระบุพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมและเชิงพาณิชย์ เพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัญหาผลิตผลการเกษตรล้นตลาดในฤดูกาลที่มีผลผลิตออกมามากในระยะเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มีราคาตกต่ำ รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่สามารถส่งออกผลผลิตไปยังต่างประเทศได้ อันเป็นปัญหาที่ประเทศไทยประสบในปัจจุบัน โดย “มังคุด” เป็นผลผลิตการเกษตรที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในระดับแถวหน้าของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

วว. จึงนำเทคโนโลยีพร้อมใช้เข้ามาช่วยในการตอบสนองความต้องการ ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ OTOP SMEs Startup ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขการใช้งานที่สอดคล้องกับบริบทการใช้งานจริง ทั้งด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ วว. ที่พร้อมช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับมังคุด ประกอบด้วย

เครื่องปอกเปลือกมังคุดพร้อมแยกเนื้อแบบกระทุ้งแกน ผลงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เพื่อช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการปอกเปลือกมังคุด ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต ได้เนื้อมังคุดที่สะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน อัตราการทำงาน 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ระบบทำงานแบบหมุนวนอย่างต่อเนื่อง ตัวเครื่องมี 3 ส่วนประกอบหลัก 1. จานลำเลียง 2. ใบมีดตัด และ 3. แกนกระทุ้งแยกเนื้อและเปลือกมังคุด หลักการทำงาน เริ่มต้นด้วยการเปิดสวิตช์ควบคุม จากนั้นหยิบวางผลมังคุดบริเวณจานลำเลียงอย่างต่อเนื่อง โดยจานลำเลียงจะหมุนลำเลียงผลมังคุดผ่านชุดใบมีดตัด เพื่อตัดเปลือกบริเวณส่วนบนและส่วนล่างของผลมังคุด โดยเศษเปลือกจะไหลลงสู่ภาชนะรองรับ จากนั้นจานลำเลียงก็จะหมุนลำเลียงผลมังคุดผ่านแกนกระทุ้งเพื่อแยกเนื้อมังคุดออกจากเปลือก ส่วนของเนื้อก็จะไหลลงสู่ภาชนะรองรับ

เครื่องคั้นน้ำมังคุด ระดับ OTOP ผลงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เพื่อช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการคั้นน้ำผลไม้ด้วยมือ ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต และได้ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่ไม่มีรสขม ปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อน อัตราการทำงานเฉลี่ย 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ตัวเครื่องมี 2 ส่วนหลัก 1. ถังบรรจุผลไม้ พร้อมฝาปิด สามารถบรรจุมังคุดได้ครั้งละ 10 กิโลกรัม ภายในมีตะแกรงสำหรับกรองแยกกากและเมล็ด โดยสามารถหมุนเอียงถังบรรจุผลไม้เพื่อทิ้งกากและเมล็ดได้

และ 2. ชุดใบตี ทำหน้าที่ตีปั่นผลไม้โดยไม่ทำให้เมล็ดแตกหรือช้ำ ไม่ทำให้เกิดรสขม ทำด้วยวัสดุยางซิลิโคน มีความยืดหยุ่นสูงและทนต่อความร้อน สามารถใช้น้ำร้อนลวกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนใช้งานเครื่องจักรได้ หลักการทำงาน เริ่มต้นด้วยการบรรจุผลไม้ลงในถังบรรจุ โดยสามารถบรรจุได้ครั้งละ 10 กิโลกรัม จากนั้นปิดฝาและเปิดสวิตช์ควบคุมไฟฟ้า ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ชุดใบตีจะทำหน้าที่ตีปั่นผลไม้เพื่อแยกกากและเมล็ด โดยน้ำผลไม้จะไหลลงสู่ภาชนะรองรับทางด้านล่างของตัวเครื่อง ส่วนของกากและเมล็ดจะอยู่ภายในถังบรรจุ สามารถหมุนเอียงถังบรรจุผลไม้เพื่อทิ้งกากและเมล็ดได้

อุปกรณ์เก็บเกี่ยวมังคุด ผลงาน ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อป้องกันความเสียหายของมังคุดคัดเกรด ประกอบด้วย ไม้โครงอุปกรณ์ ถุงรองรับมังคุด ใช้งานโดยการให้ขั้วของลูกมังคุดเข้าร่องของอุปกรณ์ แล้วบิดด้ามถือเพื่อปลิดขั้ว จากนั้นลูกมังคุดจะตกลงถุงที่เชื่อมต่อ ซึ่งเป็นถุงยาวทำให้มังคุดไม่ตกถึงพื้นรุนแรง ทำให้ไม่ช้ำ เก็บได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องยกขึ้น-ลง เหมือนอุปกรณ์เดิมที่มีตาข่าย ขนาดรองรับมังคุดได้สูงสุด 4-5 ลูก ต่อการเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง

การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมังคุดสำหรับเป็นสินค้าจำหน่ายนอกฤดูกาล ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมังคุด เป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้นนิยมนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากเนื้อมังคุดมีรสชาติที่หอมหวานอมเปรี้ยวทำให้ผลิตภัณฑ์มีรสชาติดี นอกจากนั้น เปลือกมังคุดยังมีสารแซนโทน (xanthone) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศกล่าวถึงคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) คุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ และต้านการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ

วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมังคุด และประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา “เครื่องดื่มเสริมสุขภาพมังคุด” โดยใช้มังคุดตกเกรด ที่ไม่สามารถส่งเป็นสินค้าออกยังต่างประเทศได้เป็นวัตถุดิบในการนำมาแปรรูป นับเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลเกษตรของเกษตรกรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ “เครื่องดื่มเสริมสุขภาพมังคุด” ที่ วว. พัฒนามีรสชาติกลมกล่อม ลักษณะน้ำของผลิตภัณฑ์เป็นสีม่วงใสชวนรับประทาน โดยพัฒนารูปแบบของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จำนวน 3 ชนิด ฆ่าเชื้อด้วยระบบสเตอริไลซ์ อายุการเก็บ 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง ดังนี้

เครื่องดื่มเสริมสุขภาพมังคุดพร้อมดื่ม ในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 52.44 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.31 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12.80 กรัม โซเดียม 3.42 กรัม และแคลเซียม 1.43 กรัม

เครื่องดื่มเสริมสุขภาพมังคุดเข้มข้นชนิดหวานเพื่อนำไปผสมน้ำชงดื่ม ในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 281.48 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.25 กรัม คาร์โบไฮเดรต 70.12 กรัม โซเดียม 3.26 กรัม และแคลเซียม 6.10 กรัม

เครื่องดื่มเสริมสุขภาพมังคุดเข้มข้นชนิดเปรี้ยวสำหรับผสมน้ำชงดื่ม ในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 64.72 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.31 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15.87 กรัม โซเดียม 2.19 กรัม และแคลเซียม 10.12 กรัม

แยมมังคุด เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปซึ่ง วว. ได้วิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุดและเป็นการถนอมอาหารไว้รับประทาน ผลิตภัณฑ์มีรสเปรี้ยวอมหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสำหรับใช้ทาขนมปัง ตกแต่งหน้าเค้ก หรือเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น

“…วว. พร้อมเป็น Total Solution ให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ปัจจุบัน วว. มีทิศทางการวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ส่งเสริมสนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ เทคโนโลยีพร้อมใช้เกี่ยวกับมังคุดเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ประเทศให้เป็นรูปธรรม…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว