จุรินทร์ มั่นใจ เอสเอ็มอีไทย ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ไม่มีอะไรง่ายชั่วลัดฝ่ามือ

จุรินทร์ มั่นใจ เอสเอ็มอีไทย ยังมีอนาคต แต่ต้องขวนขวาย ไม่มีอะไรง่ายชั่วลัดฝ่ามือ

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ห้องประชุมอาคารสำนักงานใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มีงานสัมมนารูปแบบ Live Streaming จัดโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เครือมติชน ภายใต้หัวข้อ Move On ฝ่าวิกฤตโควิด เศรษฐกิจต้องเดินหน้า

เวลา 13.00 น. ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ วิกฤตโควิด เอสเอ็มอี จะ Move On ได้อย่างไร ตอนหนึ่งว่า ตัวเลขเอสเอ็มอีของไทยในปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 3.1 ล้านราย มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งประเทศ และที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มีถึง 8 แสนราย เอสเอ็มอีในวันนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากของทุกประเทศในโลก กลไกการค้าระดับโลกจึงล้วนให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี

ล่าสุด ในการประชุมเอเปค เมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ประทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ มติที่สำคัญที่สุดของเอเปคเกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี บรรจุไว้ในแถลงการณ์ร่วมของเอเปคว่า สมาชิกเอเปค ต้องให้การสนับสนุน การเสริมสร้างศักยภาพของเอสเอ็มอี ส่งเสริมโอกาสความเท่าเทียมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงตลาดในและต่างประเทศ

ฯพณฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ วิกฤตโควิด เอสเอ็มอี จะ Move On ได้อย่างไร

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เช่น โครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันการเงินหลายแห่ง จัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขพิเศษ ปลอดหลักทรัพย์สองปีแรก ถือว่าเป็นเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏสามารถอนุมัติเงินกู้ไปแล้วถึง 2.5 พันล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร 2,806 ราย

ฯพณฯ จุรินทร์ กล่าวต่อ นอกจากนี้ยังมีนโยบายปั้นเจน Z เป็น CEO ร่วมกับ 93 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้เรื่องบริหารจัดการธุรกิจบัญชี ภาษาต่างประเทศ ทำการค้าออนไลน์ ภายในสิ้นปีนี้ จะมีเจน Z เป็น CEO ถึง 12,000 คน ที่จะกลายเป็นแม่ทัพรุ่นใหม่ในทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ในโอกาสต่อไป

“ผมมีนโยบายสำคัญอีกข้อ คือ มินิเอฟทีเอ ทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับบางประเทศที่มีหลายมณฑล เช่น จีน อินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการลงนาม ไทย กับ โคฟุ ของ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านอัญมณี เครื่องประดับ นี่เป็นตัวอย่างของช่องทางสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี ด้านเครื่องประดับอัญมณี ที่จะได้สิทธิพิเศษ ในการเข้าถึงตลาดญี่ปุ่นต่อไป” รมว.พาณิชย์ กล่าว

และว่า จากประสบการณ์ทำงาน 2 ปี เห็นว่าเอสเอ็มอีที่มีอนาคตนั้น ได้แก่ ภาคการผลิต เช่น เกษตร เกษตรแปรรูป แต่ต้องเดินหน้าจากเกษตรปกติเป็นเกษตรมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาเสริมมากขึ้น และมีตลาดรองรับอยู่ในโลกแล้ว เช่น มันสำปะหลัง ถ้ายังขายแค่ มันสับ มันดิบ แป้งมัน มันดี แต่ไม่พอแล้ว จะต้องใช้นวัตกรรมมาช่วย ปัจจุบัน มันสำปะหลัง สามารถนำไปทำเป็นแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ได้แล้ว เอสเอ็มอี ต้องเดินไปสู่จุดนั้น

อาหาร ก็เป็นสิ่งสำคัญ ตนมีนโยบายผลักดันให้อาหารไทยกลายเป็นอาหารโลก ไม่ใช่แค่ครัวไทยสู่ครัวโลก สำหรับตลาดอาหารไทย ที่มีอนาคต เช่น อาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ อาหารแนวใหม่เพื่อสุขภาพ อย่าง โลว์แฟต โลว์ชูการ์

“ผลไม้มีคุณภาพ ยังมีแววสดใส ตลาดใหญ่ไม่ได้อยู่เฉพาะประเทศจีน ล่าสุดทราบมาว่า ท่านทูตชิลี สนใจสองตัว คือ มังคุด และ ลองกอง คนของเขาชอบกันมาก ถ้าทำให้มีคุณภาพ รับรองมีตลาดแน่นอน แต่ก็ต้องขวนขวาย เพราะไม่มีอะไรง่าย ชั่วลัดฝ่ามือ” รองนายกฯ กล่าว

ก่อนทิ้งท้าย

“ภาคท่องเที่ยวอย่าเพิ่งท้อถอย วันนึงต้องกลับมา ผมไม่คิดว่าจะนานนัก ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แม้จะนับหนึ่งไปได้ไม่ครบร้อยก็ต้องแก้ปัญหาไป ที่ผ่านมา ผมเสนออันดามันแซนด์บ็อกซ์ พัทยา เชียงใหม่ และ หัวหิน ด้วย การท่องเที่ยวของไทยยังเป็นอนาคตของประเทศ แต่ต้องเป็นการท่องเที่ยวมีชุมชนเป็นฐาน มีการกระจายรายได้ทั่วถึง ถ้าทุกคนร่วมใจกัน มั่นใจว่าพวกเราจะฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้”