เปิดช่องคนเดียวตั้งบริษัท ต้อนผู้ประกอบการใหม่-2.6ล้านSMEเข้าระบบ

กระทรวงพาณิชย์ยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว เปิดทางให้ “คนเดียว” ตั้งบริษัทได้ เสนอ “สมคิด” เข้า ครม. หวังดัน SME 2.6 ล้านรายเข้าระบบ หนุนผู้ประกอบการรายใหม่จดทะเบียนประกอบธุรกิจง่ายขึ้น อนาคตรัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือได้ตรงจุด ด้านชมรมคลัสเตอร์-สมาพันธ์ SME ขานรับส่งเสริมผู้ประกอบการเกิดใหม่

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมได้เสนอร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. ต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ หากร่าง พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการคนไทย หรือ SMEs ที่คาดว่าจะมีประมาณ 2.6 ล้านรายทั่วประเทศ สามารถเข้าสู่ระบบการค้า และที่สำคัญก็คือ รัฐบาลจะรับรู้ตัวตนของบริษัทจำกัดคนเดียวที่เป็น SMEs ได้ และยังสามารถยกระดับบริษัทจำกัดคนเดียวที่มีความพร้อมต่อการพัฒนา ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศทางการค้าที่ดีในอนาคต

“เรารู้ตัวเลขจาก สสว.ว่า ปัจจุบันมี SMEs อยู่ประมาณ 2.6 ล้านราย แต่เราไม่รู้เลยว่า SMEs เหล่านั้นเป็นใครบ้าง ยกตัวอย่าง ร้านทองมีกี่รายตอนนี้ ถ้าสามารถดึง SMEs เหล่านี้เข้าระบบ เราจะรู้เลยว่ามีกี่ราย เหมือนกับลงทะเบียนชาวนา วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของการเก็บภาษีนิติบุคคล แต่ยังทำให้รัฐบาลกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุดมากขึ้น”

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. จะมีทั้งหมด 9 หมวด 64 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้บุคคลสามารถยื่นจดจัดตั้ง บริษัท….จำกัด (คนเดียว) ได้ 1 บริษัท ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับให้ SMEs ทั้งหมดจะต้องตั้ง บริษัทจำกัดคนเดียว แต่เป็นไปตามความสมัครใจ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ SMEs แต่ละราย โดย “บริษัท” ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หมายถึง บริษัทจำกัดคนเดียว “บริษัทจำกัด” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “เจ้าของบริษัท” หมายถึง บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของเงินหรือทรัพย์สินที่นำมาลงทุนในบริษัท

โดยข้อดีของการตั้ง บริษัทจำกัดคนเดียว ก็คือจะทำให้การจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจง่ายขึ้น ทำให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เข้าสู่ระบบเกิดความน่าเชื่อถือ และได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่เตรียมปรับลดภาษีให้นิติบุคคลที่เข้ามาในระบบ เช่น กรมสรรพากร กรมที่ดิน และยังช่วยให้ SMEs เข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐส่งเสริม ทั้งเรื่องการเงิน สภาพคล่อง และการอบรมให้ความรู้ต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ

สาระสำคัญรายหมวด

สำหรับสาระสำคัญรายหมวดของร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. ประกอบไปด้วย หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้บริษัทจำกัดคนเดียวมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การตั้งชื่อบริษัทต้องมีคำว่า “บริษัท….จำกัด (คนเดียว)” หมวด 2 การจัดตั้งบริษัท บุคคลหนึ่งอาจขอตั้งบริษัทตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ 1 บริษัท เจ้าของบริษัทรับผิดเท่ากับจำนวนทุนที่ลงไปในบริษัท และมีหน้าที่ที่จะต้องชำระทุนเต็มจำนวน หมวด 3 การบริหารจัดการ เจ้าของบริษัทอาจแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท บริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจ และให้มี สารวัตรใหญ่บัญชีและสารวัตรบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีมีอำนาจตามกฎหมายกับบริษัท

หมวด 4 การจ่ายเงินปันผล ห้ามไม่ให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากการจ่ายเงินปันผลจากเงินกำไรเท่านั้น กรณีบริษัทมียอดขาดทุนสะสมห้ามไม่ให้จ่ายเงินปันผล และบริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หมวด 5 การเพิ่มทุนและการลดทุน บริษัทอาจเพิ่มทุนหรือลดทุนของบริษัทจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ด้วยความเห็นชอบของเจ้าของบริษัทแต่ทุนของบริษัทจะลดลงไปให้ต่ำกว่าจำนวน1 ใน 4 ของทุนทั้งหมดไม่ได้

หมวด 6 การแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัดคนเดียว อาจปรับโครงสร้างการลงทุนโดยการแปรสภาพเป็น บริษัทจำกัดได้ ด้วยการจัดหาผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ถือหุ้นให้ครบเป็นองค์ประกอบและปฏิบัติตามขั้นตอน กำหนดจำนวนหุ้นสามัญ-หุ้นบุริมสิทธิ รวมทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิของหุ้นซึ่งจะออกการจัดสรรหุ้นของบริษัทที่แปรสภาพให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดโดยทุนของบริษัทจำกัดจะต้องมีทุนไม่น้อยกว่าทุนชำระแล้วของบริษัทที่แปรสภาพ

หมวด 7 การเลิกบริษัท ให้นำความมาจดทะเบียนเลิกบริษัทภายใน 14 วันนับจากวันที่มีเหตุ และจะต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อมาจัดการทรัพย์สิน บัญชี เอกสารต่าง ๆ หมวด 8 การถอนทะเบียนบริษัทร้าง เมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่า บริษัทไม่ได้ทำการค้าขาย ประกอบการงาน หรือไม่มีตัว จากพฤติการณ์ไม่ส่งงบการเงินนับแต่ปีปัจจุบันย้อนหลังไป 3 ปีติดต่อกัน หรือบริษัทอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้รายงานการชำระบัญชีหรือไม่ยื่นจดทะเบียนการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หรือนายทะเบียนส่งหนังสือทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังบริษัท/ผู้ชำระบัญชีภายใน 180 วันนับจากวันที่ส่งหนังสือนายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน (บริษัทสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล) และหมวด 9 บทกำหนดโทษ

โดยอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัทจำกัดคนเดียวอยู่ที่ 2,000 บาท

SMEs ขานรับบริษัทคนเดียว

นายสมเกียรติ ผู้มีชัยวงศ์ ประธานชมรมคลัสเตอร์ผู้ประกอบการไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. ว่า เป็นกฎหมายที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและดีต่อผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนแบบกระจายตัวของผู้ประกอบการ SMEs ที่ช่วยกันพยุงกัน ระบบเศรษฐกิจไม่ควรพึ่งพิงกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม เหมือนกับ ระบบแจโบล ของเกาหลีใต้ ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้

“ร่าง กม.ฉบับนี้เป็นการเอื้อให้คนคนเดียวสามารถตั้งธุรกิจได้ จากเดิมที่เขาต้องเป็นลูกจ้างก่อน หรืออยู่นอกระบบ กม.เปิดโอกาสให้เข้ามาสู่ระบบ จึงเท่ากับการเพิ่มจำนวนผู้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ก็เปรียบเหมือนปลาตัวเล็ก ๆ ที่มีจำนวนมากที่ช่วยกันออกหากิน ซึ่งหากรัฐบาลเอื้อให้คนเหล่านี้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายและสะดวกขึ้น จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก เด็ก-นักศึกษาจบใหม่” นายสมเกียรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบอยากจะให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการปรับรูปแบบ-ขั้นตอน-ระบบ-วิธีการ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้ง บริษัทจำกัดคนเดียว ควรจะทำให้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มบุคคลใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ ก็ควรให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ ในส่วนของการจัดเก็บภาษีจากบริษัทจำกัดคนเดียวนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่า “คุ้ม” เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งเข้ามาอยู่ในระบบ การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของรัฐบาลก็จะได้ง่ายขึ้นและเป็นผลดีแก่ผู้ประกอบการเองด้วย

ขณะที่ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย กล่าวว่า เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ระบบอยู่แล้ว ให้สามารถจัดตั้งบริษัทได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องวิ่งหาบุคคลมาเพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมก็อาจจะต้องรอไปก่อน

“มองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นทางเลือกมากกว่า เพราะเมื่อเป็น บริษัทจำกัดคนเดียว ย่อมต้องมีกระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาเช่น ระบบัญชี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา แต่เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐจะได้มากขึ้น ทางสมาพันธ์ SMEs เชื่อว่าหาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ก็จะมีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ฐานข้อมูล SMEs จะขยายตามมา” ดร.ณพพงศ์กล่าว

เชื่อมโยง SMEs เข้า Startup

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงแนวทางสนับสนุนธุรกิจ SMEs และ Startup ในปี 2560 ว่า กรมจะเป็นเวที (Market Place) เชื่อมต่อผู้ประกอบการ SMEs และ Startup เพื่อผลักดันการทำธุรกิจ SMEs สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จาก Startup มาต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น โดยเป้าหมายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็คือ Startup 300 ราย จากฐานข้อมูลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ-สมาคมเทคสตาร์ตอัพ-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ซึ่ง Startup ตามเป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บีทูบี บีทูซี และบีทูบีทูซี จะต้องคัดเลือก Startup รายที่มีตัวตนจริงเพื่อนำไปจับคู่ (แมตช์) กับ SMEs ที่มีจุดอ่อน (เพลย์พอยต์) “ตอนนี้ทุกคนพูดถึง Thailand 4.0 หมด แต่เรามองว่าควรหันกลับมามอง กลุ่มไทยแลนด์ 1.0, 2.0 และ 3.0 ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็น 4.0 ได้ โดยเอา Startup มาต่อยอด”

พร้อมกันนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการเงิน ซึ่งเดิมมีความร่วมมือในเรื่องหลักประกันทางธุรกิจอยู่แล้ว เพื่อขอให้สถาบันการเงินเข้ามาเป็น พี่เลี้ยง (Acililetor)ให้กับ Startup เติบโต รวมถึงสถาบันการศึกษา ตอนนี้ได้หารือไปแล้ว 4-5 มหาวิทยาลัย พบว่ามหาวิทยาลัยมี Startup เป็นของตัวเอง เช่น มหิดลชำนาญเรื่องฟู้ดเทคโนโลยี กลุ่มหอการค้าฯชำนาญเรื่องเว็บแก๊ป อาลีบาบาและ ม.กรุงเทพ “เราต้องมาดูว่า ใครมีศักยภาพด้านใด แล้วไปหา SMEs ที่ต้องการมาร่วมทุนด้วย หรือแบงก์อยากลงทุนเอง เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา หรือสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ มี Startup อยู่แล้วก็ยินดีอยากช่วย SMEs ให้มาใช้พื้นที่เวิร์กกิ้งสเปซ ขณะเดียวกันก็เป็นการหาลูกค้าให้กับธนาคารด้วย”

ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมจะเชื่อมโยงกลุ่ม Startup ไทยและอาเซียน ด้วยการดึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Young Blood) เช่น กลุ่ม MOC Biz Club กลุ่ม YENDI จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้เข้ามาสร้างเครือข่ายร่วมกัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ