กรมชลฯ เฝ้าระวัง น้ำหลาก-ท่วม ชี้ น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงพอแล้งหน้า

อธิบดีกรมชลประทาน สั่งเฝ้าระวัง น้ำหลาก-น้ำท่วม ชี้ น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี คาดมีน้ำใช้เพียงพอแล้งหน้า

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งที่ 29/2564 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไทยอาจมีพายุจรในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 2564 ประมาณ 2-3 ลูก อิทธิพลลมพายุจะทำให้เกิดฝนตกอย่างสม่ำเสมอในประเทศไทย

และมีฝนตกชุกในภาคตะวันตก ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนมากขึ้น ซึ่งการพยากรณ์ของกรมอุตุฯ มีการประเมินกันเกือบทุกสัปดาห์ ดังนั้น กรมชลประทานจึงต้องจับตาพายุ และสถานการณ์น้ำฝน เพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อนไม่ให้กระทบกับประชาชนบริเวณใกล้เคียงกรณีมีน้ำมาก และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกรณีน้ำน้อย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ในช่วงนี้ถึง 2 ส.ค. จะมีอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ สปป.ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทำให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยในภาพรวมเดือน ส.ค. ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใน 40 จังหวัด 170 อำเภอ และ 538 ตำบล

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาโครงการชลประทานทั่วประเทศได้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคัน บริเวณริมแม่น้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ

เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมชลประทานได้จำลองสถานการณ์กรณีมีฝนตกตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปจะมีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอ สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่  35 แห่งทั่วประเทศไว้ 7 รูปแบบ ณ 1 พ.ย. 2564

สำหรับรูปแบบที่ 1. กรณีมีน้ำมาก เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 58,399 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 82% ของความจุ 2. กรณีน้ำเฉลี่ย เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 51,295 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 72% ของความจุ 3. กรณีน้ำน้อย เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 39,538 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 56% ของความจุ 4. กรณีน้ำปี 2539 เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 55,098 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 78% ของความจุ

5. กรณีน้ำปี 2551 เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 51,791 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 73% ของความจุ 6. กรณี One Map เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 46,421 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 65% ของความจุ และ 7. กรณีเลือกปี เขื่อนจะมีน้ำปริมาณ 52,038 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 73% ของความจุ

อย่างไรก็ตาม หากให้ประเมินสถานการณ์น้ำกรณีเลือกปี น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ดีมีปริมาณน้ำตั้งแต่ 81-100% ขึ้นไปของความจุ จำนวน 15 แห่ง ปริมาณน้ำตั้งแต่ 51-80% ของความจุ จำนวน 12 แห่ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ซึ่งถือว่าน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณน้ำตั้งแต่ 31-50% ของความจุ มีจำนวน 7 แห่ง ถือว่าปริมาณน้ำพอใช้ และปริมาณน้ำน้อยไม่เกิน 30% ของความจุ จำนวน 1 แห่ง โดย 1 พ.ย. นี้ คาดมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2563 อยู่ประมาณ 8,624 ล้าน ลบ.ม.

ที่ผ่านมา กรมชลประทานมองว่าสถานการณ์น้ำปี 2564 จะใกล้เคียงปี 2551 คือมีน้ำใช้การได้มากกว่าปี 2563 อยู่ปริมาณ 8,377 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้า จนกว่าฝนใหม่จะมา