ม.นเรศวรผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้พันธุ์ใหม่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง อีก2ปีรู้ชัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.)พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” เปิดเผยว่า  งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีนายมงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอกของคณะเป็นผู้ช่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ศึกษาการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงขึ้น จากคู่ผสม 6 สายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์พระราชทาน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 80, 50, 70 และ 72 รวมทั้งสายพันธุ์ 329 จากอิสราเอล และอาคิฮิเมะจากญี่ปุ่น

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-75

ผศ.พีระศักดิ์ ฉายประสาท(ขวา) และนายมงคล ศิริจันทร์

ผศ.พีระศักดิ์กล่าวว่า จากการวิจัยพบในเบื้องต้นว่า เมื่อนำพันธุ์พระราชทาน 80ผสมกับพันธุ์อาคิฮิเมะ น่าจะทำให้ได้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ที่มีปริมาณแอนโทไซยานินสูง เนื่องจากพันธุ์อาคิฮิเมะมีสานชนิดนี้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆอยู่แล้ว คาดว่าอีกสองปีน่าจะรู้ผลอย่างแน่ชัด เพราะตอนนี้เป็นช่วงทดลองคู่ผสมของพันธุ์ต่างๆอยู่ ต่อไปคนไทยจะได้ทานสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่ที่แอนโทไซยานินสูง ซึ่งสารนี้ช่วยต้านอนุมูลอิสระมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ในต่างประเทศอย่างอิตาลีก็มีการผสมพันธุ์พันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อให้ได้แอนโทไซยานินสูงเช่นกัน

ผศ.พีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ลักษณะดีของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 คือ เมื่อเริ่มสุกมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน เนื้อผลแน่น ผลสุกมีสีแดงสดถึงแดงจัด รูปร่างของผลสวยงาม จึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบเพาะปลูกในเชิงการค้าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตามสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ดังกล่าวยังมีลักษณะด้อยบางประการ เช่น มีปริมาณแอนโทไซยานินน้อย ผิวบาง ช้ำเสียง่าย ไม่ทนต่อการขนส่ง ทำให้เกิดปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว คือ ผลสูญเสียทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ จึงควรมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น นั่นคือมีปริมาณแอนโทไซยานินสูง และมีอายุการเก็บรักษายาวนาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-77

ด้านนายณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์  ผู้อำนวยการผ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า  จากการวิจัยระบุว่าหากหญิงมีครรภ์ได้ทานสตรอว์เบอร์รีวันละ 8 ลูกจะเป็นผลดีต่อครรภ์เพราะมีกรดโฟลิก อีกหน่อยหากงานวิจัยนี้เสร็จจะทำให้การทานสตรอว์เบอร์รีเป็นไปเพื่อสุขภาพมากขึ้นแทนที่จะทานอร่อยอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงินเบื้องต้นจำนวน5 แสนบาท ให้ทางมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อปรับปรุงพันธุ์ จนล่าสุดได้พันธุ์พระราชทาน 88 แต่น่าเสียดายที่พระองค์ท่านยังไม่ได้ทรงชิม  พูดได้ว่าพันธุ์พระราชทาน 88 เป็นสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์สุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ท่าน

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-78

นายณรงค์ชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับพันธุ์พระราชทาน 88 นี้ ปัจจุบันทางโครงการหลวงยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แต่ปลูกเฉพาะในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ของโครงการหลวง รอการทำการตลาดสักพัก เนื่องจากเป็นพันธุ์ใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่มีจุดเด่นตรงที่เป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดในไทย คือ  เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 กับพันธุ์พระราชทาน 60  ซึ่งมีผลดีตรงที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี  รสชาติดี เนื้อละเอียดแน่น กลิ่นหอมโดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น ผิวสวย เหมาะกับการทานผลสด บางคนถึงกับบอกว่าทานแล้วละลายในปาก ซึ่งทางโครงการตั้งเป้าจะส่งขายในห้างระดับพรีเมี่ยม ราคาต่อกิโลกรัม(ก.ก.)จะแพงกว่าพันธุ์อื่น ตกก.ก.ละ 300-400บาท  เพราะคุณภาพสามารถสู้ได้กับสตรอว์เบอร์รีจากต่างประเทศอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ได้เลย