ชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ม.มหิดล พัฒนาสำเร็จแล้ว คาดวางจำหน่ายส.ค.นี้

ชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ม.มหิดล พัฒนาสำเร็จแล้ว คาดวางจำหน่ายส.ค.นี้

ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ ได้สนับสนุนและดำเนินการให้ผลงานชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ของภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับการยื่นจดอนุสิทธิบัตร จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชน นำไปสู่การพัฒนาจนได้รับการรับรอง นำไปสู่การพัฒนาจนได้การรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้มาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถขยายตลาดไปสู่ในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กล่าวต่อว่า ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานโดดเด่นมาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ที่สามารถต่อยอดเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ชุดตรวจโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิหอยโข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุดตรวจแบบรู้ผลเร็วสำหรับการวินิจฉัยโรคพยาธิเท้าช้าง ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในโครงการควบคุมกำจัดโรคเท้าช้างของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า โรคเท้าช้างไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว

รศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง และ รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร ผู้นำทีมวิจัยและพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ของ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

มาจนถึงผลงานสร้างชื่อล่าสุด คือ ชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ซึ่งตอบโจทย์วิกฤตของประเทศและทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ จากคุณสมบัติพิเศษของชุดตรวจที่ใช้น้ำยาซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ในขณะตรวจ โดยจะไม่ทำให้เชื้อแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม และรู้ผลการตรวจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสามารถต่อยอดไปเป็นชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป (self test) ที่ใช้งานง่ายและสะดวก สามารถทำการตรวจได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับก้าวต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมุ่งวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันแบบยับยั้งที่เรียกว่า Neutralizing Antibody ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 มีภูมิต้านทานเพียงพอกับการป้องกันเชื้อไวรัสหรือไม่ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยทางทีมผู้วิจัยหวังว่า จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงการตรวจได้ง่าย ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถวางแผนมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งสังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติในทุกๆ ด้านอีกด้วย