ล็อกดาวน์ ต้อง ไม่ล็อกทิพย์ ล็อกดาวน์ แบบไหนคนถึงจะ ไม่น็อก

ล็อกดาวน์ ต้อง ไม่ล็อกทิพย์ ล็อกดาวน์ แบบไหนคนถึงจะ ไม่น็อก
ล็อกดาวน์ ต้อง ไม่ล็อกทิพย์ ล็อกดาวน์ แบบไหนคนถึงจะ ไม่น็อก

ล็อกดาวน์ ต้อง ไม่ล็อกทิพย์ ล็อกดาวน์ แบบไหนคนถึงจะ ไม่น็อก

คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ และ ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านบทความ ในหัวข้อ วิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย : เราจะเลือกหนักไปหาเบา หรือ เบาไปหา(อาการ)หนัก มีสาระสำคัญน่าสนใจ ระบุว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้    เข้าขั้นวิกฤตแล้ว คำถามสำคัญ ที่ทุกคนต้องการได้คำตอบอย่างเร่งด่วน คือ รัฐจะมีมาตรการในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้อย่างไร

บทความดังกล่าว จากคณะนักวิชาการจากศศินทร์ฯ จึงนำเสนอข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทั่วโลก เคยใช้ในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้เข้าใจว่าการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขั้นวิกฤตของประเทศไทยนั้น ควรคำนึงถึงมาตรการใดและมีวิธีการเยียวยาอย่างไรบ้าง

โดยระบุตอนหนึ่งว่า มาตรการที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ นำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมีอยู่หลายมาตรการ และมีผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดแตกต่างกัน โดยพบว่า มาตรการที่เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม การห้ามรวมกลุ่มของประชาชนที่เข้มข้น (เช่น ห้ามรวมกลุ่มเกิน 10 คน) การควบคุมการเดินทาง การปิดสถานศึกษา การปิดชายแดน และ การปิดธุรกิจส่วนใหญ่ยกเว้นแต่ที่มีความจำเป็นจริงๆ ให้ผลต่อการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมได้รวดเร็วที่สุดในหลายประเทศ

บทความศศินทร์

ซึ่งมาตรการที่ได้ผลดีที่สุดในหลายประเทศ คือ การห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนที่เข้มข้น ดังนั้น ในภาวะวิกฤตของไทยนี้ ควรจะจำกัดการรวมกลุ่มในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นไม่ให้เกิน 2 คน เหมือนที่เวียดนามกำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นเวลา 14 วัน เพราะจะทำให้การระบาดลดลงได้อย่างรวดเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการข้างต้นจะมีประสิทธิภาพสูงในการลดการระบาด แต่ก็มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มแรงงานหาเช้ากินค่ำ ดังนั้น รัฐควรต้องคำนึงถึงมาตรการเสริมอื่นๆ ด้วย อาทิ การแจกจ่ายอาหาร วันละ 3 มื้อ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนที่ต้องตกงาน

โดยรัฐ สามารถรับสมัครร้านอาหาร เข้าร่วมโครงการทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนโดยงบประมาณของรัฐ ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการต่ออายุธุรกิจร้านอาหาร เหมือนเป็นการ ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว

“งบประมาณ ตามโครงการที่เสนอไปข้างต้น ไม่น่าจะมากกว่างบประมาณในโครงการเยียวยาอื่นๆ ที่รัฐเคยทำ เช่น หากมีประชาชนรับอาหารประมาณ 10 ล้านคนต่อมื้อ ในกรณีล็อกดาวน์ 14 วัน จะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 12,600 ล้านบาท (โดยคำนวณจากค่าอาหารมื้อละ 30 บาท) ส่วนวิธีการเบิกจ่าย ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ระบบของโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ให้รัฐมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม อาทิ การเหมาจ่ายโดยคาดประมาณจำนวนประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่มารับอาหาร นอกจากนี้ การรับอาหารต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการระบาด” นักวิชาการศศินทร์ฯ ระบุ

คณะนักวิชาการศศินทร์ฯ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเห็นได้ชัด มาตรการควบคุมหลายมาตรการของประเทศไทย ไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ตัวอย่างชัด ได้แก่ การเกิดการลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ผ่านจุดคัดกรองและกักตัว และเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศ อย่าง จีน สามารถควบคุมการระบาดได้ดี ทั้งที่มีพรมแดนธรรมชาติที่ยาวและยากต่อการควบคุมเป็นอย่างมาก สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะ จีน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19

ดังนั้น แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามมาตรการควบคุมต่างๆ อย่างเคร่งครัด แต่การกระทำของคนส่วนน้อย ที่ไม่เคารพมาตรการควบคุมต่างๆ สามารถเป็น ชนวนไฟการระบาด ทำให้ลุกลามเป็นไฟป่า เผาประเทศได้ ดังนั้น วิธีป้องกัน คือ การออกกฎหมายชั่วคราวที่เข้มข้นและเพิ่มโทษคนที่ละเมิดกฎหมายและมาตรการที่รัฐกำหนด