ส่งออกทุเรียนไทย เดือน พ.ค. 64 พุ่งทุบสถิติ ตลาดจีนยังคงมาแรง

ส่งออกทุเรียนไทย เดือน พ.ค. 64 พุ่งทุบสถิติ ตลาดจีนยังคงมาแรง
ส่งออกทุเรียนไทย เดือน พ.ค. 64 พุ่งทุบสถิติ ตลาดจีนยังคงมาแรง

ส่งออกทุเรียนไทย เดือน พ.ค. 64 พุ่งทุบสถิติ ตลาดจีนยังคงมาแรง

วันที่ 9 ก.ค. 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยในเดือน พ.ค. 2564 สร้างสถิติรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 95.3% (YoY) ส่งผลให้ทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญลำดับที่ 2 และมีแนวโน้มเติบโตทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ซึ่งแรงสนับสนุนสำคัญมาจากการตอบรับของผู้บริโภคในตลาดโลก โดยมีจีนเป็นประเทศผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก หรือคิดเป็น 70% ของตลาดโลก ซึ่งเมื่อรวมตลาดฮ่องกงที่มีส่วนแบ่งเกือบ 20% ทำให้จีนครองตลาดทุเรียนไปเกือบทั้งหมด

ในขณะที่ประเทศไทย เป็นประเทศส่งออกทุเรียนรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า โดยไทยมีความได้เปรียบในด้านความเชี่ยวชาญทำตลาดส่งออกผลไม้ ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดจีน ทำให้การขนส่งทุเรียนสดถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ในราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ รวมถึงรสชาติของทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนยังผลักดันให้ราคาจำหน่ายทุเรียนสูงต่อเนื่อง แม้ในปัจจุบันทุเรียนไทยครองตลาดจีนได้เกือบทั้งหมดถึง 99% ของการนำเข้าทุเรียนของจีนรวมกับฮ่องกง แต่ด้วยปริมาณผลผลิตทุเรียนไทยที่มีจำกัดไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มมาจากพื้นที่ต่างๆ ของจีน ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น การเร่งทำตลาดเชิงรุกจึงน่าจะเป็นตัวช่วยให้ทุเรียนไทยทำตลาดได้ต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการชูจุดขายด้านสายพันธุ์แปลกใหม่ของไทยให้เป็นที่รู้จักในจีน เพื่อเพิ่มโอกาสการทำตลาดในระยะยาว การทำตลาดผ่านเครือข่ายโซเชียล ผ่านบัญชีทางการในวีแชทและแพลตฟอร์ม E-commerce ของจีน รวมถึงการควบคุมคุณภาพในการปลูก ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่ให้รสชาติดีที่สุด ตลอดจนการขนส่งให้คงความอร่อย คงรสชาติดั้งเดิมจะเป็นตัวสร้างจุดเด่นให้แก่ทุเรียน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดการส่งออกทุเรียนสดไทยไปตลาดโลกในปี 2564 จะขยายตัวราว 35-40% มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัว คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี

สำหรับในทศวรรษจากนี้ไป ไทยจะต้องเจอการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากคู่แข่งหน้าใหม่ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย เกษตรกรไทยจึงควรเร่งทำการตลาดเชิงรุกเพื่อมัดใจผู้บริโภครายใหม่ก่อนคู่แข่ง