ร้านวัสดุก่อสร้าง กระทบหนัก อิฐ หิน ปูน ทราย ขายไม่ได้ ปรับตัวสู่ออนไลน์แก้วิกฤต

ร้านวัสดุก่อสร้าง
ร้านวัสดุก่อสร้าง

ร้านวัสดุก่อสร้าง กระทบหนัก อิฐ หิน ปูน ทราย ขายไม่ได้ ปรับตัวสู่ออนไลน์แก้วิกฤต

ร้านขายวัสดุก่อสร้าง คืออีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด โดยเฉพาะเมื่อมีคลัสเตอร์ใหม่ตามไซต์งานก่อสร้าง จนภาครัฐต้องประกาศปิดไซต์ก่อสร้างนานเป็นเดือน แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบไปถึงผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 

คุณจิ-จิรทีปต์ ตั้งพร้อมพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เซ็นเตอร์รุ่งเรือง
คุณจิ-จิรทีปต์ ตั้งพร้อมพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เซ็นเตอร์รุ่งเรือง

คุณจิ-จิรทีปต์ ตั้งพร้อมพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เซ็นเตอร์รุ่งเรือง เล่าว่า ร้านเปิดให้บริการมานานกว่า 40 ปี ตั้งอยู่ย่านคลอง12 ถนนรังสิต-นครนายก จำหน่ายขายวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่ พวก อิฐ หิน ปูน ทราย ฯลฯ โดยตนเองเข้ามารับช่วงต่อกิจการเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา 

“ปัญหาแรกของร้านวัสดุก่อสร้าง คือ คู่แข่งทางธุรกิจ หลายคนหันมาทำร้านวัสดุก่อสร้างตั้งแต่ร้านแบบ 1 ห้องแถว ไปจนถึงโมเดิร์นเทรด ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เราไม่ได้แข่งขันเฉพาะคนขายด้วยกัน แต่ต้องสู้กับผู้ผลิตที่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ด้วย” คุณจิ เล่า

 ร้านเซ็นเตอร์รุ่งเรือง
ร้านเซ็นเตอร์รุ่งเรือง

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทายาทรุ่นสามต้องรับมือ คือ วิกฤตโควิด-19

“ในช่วงแรกที่โควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เหมือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อวงการวัสดุก่อสร้าง เพราะไม่ได้มีการแพร่ระบาดในกลุ่มของงานก่อสร้างเท่าไหร่ หรือถึงแม้ว่าจะไม่มีลูกค้าปลีกเลย ค้าส่งเราก็ยังมีลูกค้าประจำอยู่ตลอด แต่พอมาช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา หน้างานก่อสร้างเริ่มมีการปิดตัวลงเพราะเริ่มมีคนงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนนี้ส่งผลกระทบกับร้านของเราโดยตรง จากเมื่อก่อนเรายังขน อิฐ หิน ปูน ทราย ไปส่งได้ ทำให้ร้านไม่สามารถส่งของไปยังไซต์งานก่อสร้างได้ ลูกค้ารายใหญ่ที่เคยซื้อสินค้ากับเราก็ต้องหยุดชั่วคราว ทำให้สินค้าของเราหยุดขายออกไปในระยะหนึ่ง”

ปรับตัวขายออนไลน์
ปรับตัวขายออนไลน์

โดยหนทางที่จะนำพาให้ร้านวัสดุก่อสร้าง ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤต คือการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์

คุณจิ เผยว่า ก่อนหน้านี้ การขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยม บรรดาหัวหน้าช่าง หรือคนงานก่อสร้าง ไม่ได้เข้าใจในการซื้อ-ขายของออนไลน์มากเท่าไหร่ เพราะช่องทางก็ไม่ได้มีหลากหลายเหมือนในปัจจุบัน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ร้านเซ็นเตอร์รุ่งเรือง ได้ปรับตัวขายวัสดุก่อสร้างผ่าน เฟซบุ๊ก, ไลน์แอด, ช้อปปี้

“เรามีครบในทุกแพลตฟอร์ม แม้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ เพราะว่าสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างค่อนข้างมีน้ำหนัก สินค้าบางตัวไม่สามารถจดส่งผ่านบริษัทขนส่งเอกชนได้ แต่ผมอยากสร้างประสบการณ์ซื้อขายสินค้าวัสดุก่อสร้างให้ลูกค้า เคยจัดส่งทางรถบรรทุกยังไงก็เป็นแบบนั้นเหมือนเดิม ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร” คุณจิ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการรับมือความเคยชินของลูกค้า

ร้านวัสดุก่อสร้าง
ร้านวัสดุก่อสร้าง

“ถึงแม้ว่าเราจะมีการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผมก็ยังอยากได้ แพลตฟอร์มเฉพาะเกี่ยวกับตลาดวัสดุก่อสร้าง และผมก็ได้รู้จักกับ BAANDY เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์กับผมเป็นอย่างมาก เพราะขายสินค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะ ตัวนั้นกลุ่มลูกค้าจะหลากหลายมาก ขายได้ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ผมใช้ BAANDY ประมาณ 7 เดือนกว่าๆ ผลตอบรับถือว่าดีเลยทีเดียว ยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านผมขาย กรรไกรตัดกิ่งไม้ได้เยอะมากๆ ประมาน 100 อันเป็นอย่างต่ำ เรียกได้ว่าในสต๊อกไม่มีสินค้าเหลือเลย”

ท้ายนี้ ทายาทรุ่นสาม บอกว่า “สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อตลาดวัสดุก่อสร้าง ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น กิจการร้านค้าต่างๆ จึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ผมเข้าใจเสมอว่ามันไม่ง่าย มันไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมกระโจนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ มันเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อม การมีพาร์ตเนอร์ที่ดี การเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของเรา อยากให้ทุกคนสู้และมีหวังเสมอ”