ธุรกิจต้องปัง ในยุค นิวนอร์มอล คิดต่าง สร้างจุดเด่น ไม่มีทางล้มเหลว

ธุรกิจต้องปัง ในยุค นิวนอร์มอล คิดต่าง สร้างจุดเด่น ไม่มีทางล้มเหลว
ธุรกิจต้องปัง ในยุค นิวนอร์มอล คิดต่าง สร้างจุดเด่น ไม่มีทางล้มเหลว

ธุรกิจต้องปัง ในยุค นิวนอร์มอล คิดต่าง สร้างจุดเด่น ไม่มีทางล้มเหลว 

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้ากรุงเทพ หรือ YECBK จัดเสวนาผ่านทางซูม และคลับเฮ้าส์ ในหัวข้อ ธุรกิจต้องปัง หลังนิวนอร์มอล เมื่อเร็วๆ นี้ โดย คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า สมัยทำธุรกิจเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน ทั้ง บีทูเอส และออฟฟิศเมท เจอวิกฤตเศรษฐกิจ 3 ระลอก เริ่มตั้งแต่ต้มยำกุ้งปี 2540 จนมาถึง น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ ผ่านพ้นมาทุกวิกฤตได้ โดยการมองไปข้างหน้า คิดทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ รอบด้าน และต้องมีการพัฒนาธุรกิจของตัวให้เข้ากับวิกฤต หากไม่ปรับตัว โอกาสล้มมีสูง โดยเฉพาะวิกฤตในครั้งนี้หนักหนาสาหัสที่สุด

“ครอบครัวเป็นยี่ปั๊วค้าส่งเครื่องเขียน ธุรกิจใกล้ล้มละลาย จึงคิดทำระบบแค็ตตาล็อกขึ้นมา แต่เนื่องจากทุนน้อย ความรู้ไม่มาก ทำได้ดีที่สุดคือ price list แต่สามารถประสบความสำเร็จจากที่จะล้มละลายกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่ง จากศูนย์ถึงร้อยล้านในเวลาเพียง 3 ปี แต่ก็มาเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ยอดตกลงเหลือ 20 กว่าล้าน หรือลดไปราว 80% ตอนนั้นยอมรับว่าเป็นช่วงที่ทำงานหนักที่สุดในชีวิต กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นปี เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่มาทำเป็นระบบแค็ตตาล็อก ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน จนยอดขึ้นไปสิบกว่าล้าน ภาวะวิกฤตใครผ่านได้จะเก่งขึ้น และต้องเก่งและเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงจะรอดได้ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านไอที” คุณวรวุฒิ กล่าว

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ส่วนเรื่องการวางแผนทางการเงิน คุณวรวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนคือ การหาโอกาสใหม่ๆ และต้องมีตัวเลขของลูกค้าเก่าด้วยว่า หายไปจำนวนเท่าไร และยังมีลูกค้าที่ยังแอ๊กทีฟอยู่กี่ราย และในจำนวนนี้การซื้อเฉลี่ยลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะเหลือประมาณ 50-60% แล้วมาวางแผนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเริ่มจากให้ลูกค้าเดิมซื้อเยอะขึ้น แต่เป็นสินค้าตัวใหม่ที่วิเคราะห์ว่าเขาจะต้องซื้อเพราะมีความจำเป็นต้องใช้

“สมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ปรับเพิ่มสินค้าจากเดิมที่ขายเพียงเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานก็เป็นสินค้าจำเป็น เช่น ชา กาแฟ น้ำยาถูพื้น หรือแม้แต่ยาพารา ถังและน้ำยาดับเพลิง ก็ขาย เนื่องจากสมัยนั้นมีการเผาเอาประกันกันเยอะ หลายบริษัทจึงต้องมีติดไว้ จึงนำเสนอด้วยสินค้าใหม่ เจาะตลาดใหม่ๆ กระจายหาฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใหม่ ต้องพุ่งเข้าหาไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ไปหาให้เจอ ภาวะวิกฤตถ้าเราอยู่เฉยๆ ก็จะวิกฤตไปตามกระแส” คุณวรวุฒิ กล่าว

ด้าน คุณโอฬาร วีนะนนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทุกวันนี้ ธุรกิจหลายอย่างประสบปัญหา อาจกล่าวได้ว่าใครรวยกว่าคนนั้นเจ็บมากกว่า เมื่อก่อนคิดว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ยุคนี้ถ้าปลาเล็กรวมตัวกันสู้ปลาใหญ่ได้ บริษัทดูเรียน ก็เช่นกัน เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ข้อมูลมองปัญหา และดูว่าแหล่งเงินทุนอยู่ตรงไหน ควบคู่ไปกับ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่เปลี่ยน Mind Set ของพนักงานแทน เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ตอนนี้ เราลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ลงทุนน้อยกำไรน้อย หรือ อย่างแย่ที่สุด คือ ขาดทุนน้อยแบบรับได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือฐานข้อมูลและใจของพนักงาน ทั้งนี้ มีเป้าว่าพร้อมลงทุน ถ้าธุรกิจนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตได้ แต่ถ้าไม่เวิร์ก ก็เลิกทำภายในสามเดือน” คุณโอฬาร กล่าว