คลัง เล็งสั่ง แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ช่วย ผปก. ร้านอาหาร-ท่องเที่ยว ถึงสิ้นปีนี้

ปลัด ก.คลัง เล็งสั่ง แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ช่วย ผปก. ร้านอาหาร-ท่องเที่ยว ถึงสิ้นปีนี้

เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานข่าว นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกสถาบันการเงินของรัฐ เข้ามาหารือในเรื่องแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยระยะสั้น ภายใน 6 เดือน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายมา

โดยสั่งการให้แบงก์รัฐพิจารณาช่วยประชาชนในเรื่องลดอัตราดอกเบี้ย เหลือ 0% จนถึงช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะดูแลในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยได้ให้แบงก์รัฐกลับไปเตรียมแนวทางเพื่อหาข้อสรุปในการออกมาตรการช่วยเหลือก่อนว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด แล้วส่งเรื่องกลับมาที่คลังภายในสัปดาห์นี้

“ที่ผ่านมาแบงก์รัฐก็ดำเนินนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มีหนึ่งแบงก์แล้วที่ส่งเรื่องกลับมาให้เรา โดยเสนอช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยการลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.01% จนถึงปลายปีนี้ ซึ่งที่นายกฯ สั่งลดดอกเบี้ยนั้น เราก็จะดูตามคุณภาพของลูกหนี้ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยจะลดดอกเบี้ยให้ทั้งผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งบุคคลธรรมดาด้วย โดยการลดดอกเบี้ยดังกล่าวนี้ไม่ได้ของบประมาณชดเชยจากรัฐบาล หากได้ข้อสรุปแล้วแบงก์รัฐก็ดำเนินการได้เลย” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานช่วยประชาชนที่ผ่านมาของแบงก์รัฐทุกแห่ง มีนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่รอบแรกแล้ว ทั้งเรื่องการเลื่อนชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ซึ่งการออกมาตรการหลายๆ อย่างของแบงก์รัฐนั้น ก็ไม่ได้ไปขอใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน ของ ธปท. แต่ก็ยังคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ ธปท. กำหนดไว้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

ซึ่งแบงก์รัฐใช้งบประมาณของหน่วยงานเอง พร้อมกันนี้ เชื่อว่าหากแบงก์รัฐดำเนินงานในมาตรการช่วยเหลือลูกค้าดังกล่าวเพิ่มเติม จะไม่กระทบกับสถานะการเงินของแบงก์รัฐ โดยที่ผ่านมาแบงก์รัฐมีการตั้งสำรองเกินเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดไว้ 8.5% สูงกว่า 10% ซึ่งสถานะแบงก์ยังคงแข็งแกร่งและมั่นคง

ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ในส่วนพิโกไฟแนนซ์ พลัส เหลือ 28% จากเดิม 36% และในส่วนของนาโนไฟแนนซ์ ก็ลดอัตราดอกเบี้ย เหลือ 28% เช่นเดียวกัน เพื่อลดภาระประชาชนในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดนี้

ส่วนแนวทางที่จะยกเลิกเครดิตบูโร เพื่อให้การอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเครดิตบูโรสามารถช่วยในการคัดกรองลูกหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้บังคับว่าแบงก์ต้องใช้ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลเครดิตบูโร

นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเข้าช่วยอุตสาหกรรมเพิ่มเติม โดยขณะนี้ภาคเอกชน ก็ได้เสนอขอใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

รวมทั้งข้อเสนอในการเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง จากเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 6,000 บาทด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีกครั้ง ว่าจะบริหารงบประมาณในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างไร และจะเหลืองบประมาณเพื่อนำมาใช้ในโครงการคนละครึ่งมากน้อยอย่างไร