สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ทัศนียมรรคา” เส้นทางอันพึงชม

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “ทัศนียมรรคา” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดยสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสได้ร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปี 2558-2559 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ จำนวน 168 ภาพ

โดยแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง นอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย อีกทั้งยังให้ข้อคิดเตือนใจในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มาชมภาพที่เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของพระองค์ในทุกหนแห่ง

201612121525378-20110627141736

โอกาสนี้ ทรงบรรยายเรื่องภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ความตอนหนึ่งว่า “หัวข้อของการบรรยายครั้งนี้ให้ชื่อว่า ทัศนียมรรคา คือ เส้นทางอันพึงชม ซึ่งทำให้คิดคำพูดภาษาฝรั่งเศสที่เคยเรียนเมื่อตอนเด็กๆ ว่า Les voyages forment la jeunesse (เลส์ วัวยาชส์ ฟอร์มองต์ ลา เฌอแนส) หมายถึงการออกไปสู่โลกกว้างเป็นการให้ความรู้ สร้างชีวิตเยาวชน ซึ่งวิธีการที่สอนและอบรมเยาวชน ส่วนหนึ่งคือการให้มีประสบการณ์ออกไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ยิ่งเห็นมาก ยิ่งมีความรู้มาก แต่ทีนี้ เราก็ไม่ใช่เยาวชน เป็นชราชน หรือผู้สูงอายุก็ว่าไป แต่การเรียนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น การท่องเที่ยวก็คือการให้การศึกษาแก่ผู้มีอายุเกินเยาวชนไปแล้ว เพราะการเรียน เรียนได้ตลอดชีวิต”

2266

หนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ทัศนียมรรคา”

จากนั้นทรงยกตัวอย่างภาพฝีพระหัตถ์ อาทิ “ภาพชาย 5 มิติ” ซึ่งเป็นภาพของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รับสั่งว่า “ภาพนี้ให้ชื่อว่าชายห้ามิติ วันนี้ จะพยายามทำให้เป็นชายหกมิติ และจะเรื่อยๆ ไปถึงยกกำลังเอ็น”

2267

ชาย 5 มิติ

ต่อมาเป็นภาพ “คุณบ๊อบบี้ ผู้เฝ้าประตู” รับสั่งว่า “รูปนี้ พระเอกใหญ่อีกคน ชื่อบ๊อบ แต่เดิมเขาชื่อหง่าว เพราะอยู่ๆ ก็มา ร้องหง่าวๆ อยู่หน้าบ้าน คิดว่า เขาจะมาจีบลูกสาวเรา คือใบตอง และมองดูเหมือนเป็นไปได้ เพราะใบตอง ปกติมีแมวอื่นมา เขาจะไล่”

“ส่วนหง่าว ตอนแรกๆ จับก็ไม่ได้ แต่พอจับได้ ก็เอาไปส่งโรงพยาบาล ปรากฎว่าหง่าวป่วย แพทย์ก็ผ่าตัดให้ พอผ่าตัดเสร็จแล้ว หง่าวก็เลยเชื่อง จึงมาแทนที่ใบตอง มาเฝ้า จากที่จับไม่ได้ คราวนี้ก็ไม่หนีอีกต่อไป และก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับบ๊อบ แมวฝรั่ง ก็เห็นว่าหง่าวหน้าตาเหมือนบ๊อบมากเลย จึงเปลี่ยนชื่อจากหง่าวเป็นบ๊อบ และดูเหมือนเขาจะชอบชื่อ เพราะเรียกบ๊อบ ก็ส่งเสียงหง่าว ก็เป็นคนเฝ้าบ้าน ชอบนอนบนบันได”

2269

คุณบ๊อบบี้ ผู้เฝ้าประตู

ภาพ “คำอธิษฐาน เมืองพิรัน” ทรงเล่าว่า “รูปนี้เดินทางไปเที่ยวเกาะที่เมืองพิรัน ถ้าดูในเว็บท่องเที่ยว เขาก็บอกว่า กำแพงเมืองพิรันควรไปเที่ยวชม จะมองเห็นทั้งเมือง ซึ่งเมืองนี้หลังคาสีแสด กระเบื้องสีส้ม เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโบราณ ภาพที่เห็นเป็นเหมือนราวตากผ้า แต่ที่ตากอยู่ไม่ใช่ผ้า เป็นเศษกระดาษ ทุกคนก็เขียนความปรารถนาเขียนไว้ที่ราวตากผ้านี้ ไปพลิกๆ ดู มีภาษาจีน แต่ไม่มีภาษาไทย”

2268

คำอธิษฐาน เมืองพิรัน

นอกจากนี้ยังทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภาพอื่นๆ อาทิ ภาพห้องเรียนที่โรงเรียนประถมศึกษา บานายอน เกาะเลย์เต , ภาพถ้ำโพสตอยนา, ภาพอนุสาวรีย์ช้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทาน จากจาการ์ตา, ภาพตรวจหมาจำลอง คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ภาพเงาตัวเอง ปราสาทเมืองตราไก , ภาพรุ้ง-น้ำตกอีกัวซู่ ถ่ายจากด้านประเทศบราซิล, ภาพราหูอมจันทร์ และภาพชัยพัฒนาชวนชิม ไก่นาบกระทะ ไข่พระอาทิตย์ ทอดด้วยน้ำมันชา เป็นต้น

ตลอดการบรรยายทรงมีพระอารมณ์ขันเป็นอย่างมาก เรียกเสียงหัวเราะจากผู้มาฟังการบรรยายเป็นระยะๆ

2270

ราหูอมจันทร์

จากนั้น เสด็จฯ ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดนิทรรศการ และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ โอกาสนี้ ทรงถ่ายภาพ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่หน้าภาพชายห้ามิติด้วย

ทั้งนี้ นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “ทัศนียมรรคา” เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ถึง 29 มกราคม 2560 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-21.00 น. และได้จัดจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ทัศนียมรรคา” ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมด นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

201612121527556-20110627141736

201612121527557-20110627141736

260160

260162

 

260164

ที่มา มติชน