ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ถางที่ดินรกร้าง สร้างแปลงเกษตร หาอาชีพให้ นศ. ประชาชน ว่างงานจากวิกฤต
จากสถานการณ์ปัจจุบัน COVID-19 ส่งผลกระทบ ทำให้ผู้คนหลุดจากตลาดงานและมีรายได้จากการทำงานหรืออาชีพเสริมลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว คนวัยทำงาน รวมถึงนักศึกษา ที่กำลังจะจบการศึกษากำลังได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตการระบาดที่เกิดขึ้น
ดังนั้น คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างอาชีพ รายได้ และเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ และประชาชนในชุมชนเมืองเอก ที่ว่างงานจากภาวะวิกฤต ภายใต้โครงการ “พลิกโฉมหลักหกสร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ”
อาจารย์กษิดิ์เดช อ่อนศรี ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า คณะนวัตกรรมเกษตร ได้รับการสนับสนุนที่ดินรกร้างให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จำนวน 2 แปลง จากหมู่บ้านเมืองเอกโครงการ 4 ให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเริ่มลงพื้นที่สำรวจ โดยมีการวางแผนผังการเพาะปลูก จัดสรรพื้นที่ และวางระบบน้ำสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการสำรวจตลาดในชุมชนเมืองเอกว่า มีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรชนิดใดบ้าง
โดยมีการจัดการปลูกพืชหลายกลุ่ม ประกอบด้วย พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล และ สมุนไพร เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก มะนาว กะเพรา โหระพา มะเขือ ถั่วฝักยาว มะละกอ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย เตย ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้ มะกรูด และ หญ้าดอกขาว เป็นต้น หลังจากที่พืชมีการเจริญเติบโตเต็มที่จะเก็บเกี่ยวไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงเพาะเห็ดมีการเพาะเลี้ยงเห็ดและเลี้ยงเชื้อเห็ด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพการเพาะเห็ดอินทรีย์ต้นทุนต่ำสู่ชุมชนริมคลองวัดรังสิต และมีการสร้างโรงเรือนไมโครกรีน ที่มีการเพาะปลูกพืชให้มีการเจริญเติบโตเพียง 7-10 วัน สามารถนำมารับประทานและออกจำหน่ายได้ด้วย ผลผลิตที่ได้จะนำมาแบ่งปันในกลุ่มเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นแหล่งอาหารเพื่อสุขภาพ ผลผลิตที่เหลือนำไปจำหน่ายตามช่องทางต่างๆ เป็นรายได้เสริม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีแหล่งอาหารที่มีคุณค่าแล้ว ยังช่วยทําให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ นักศึกษาจะได้มีการเรียนรู้ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ปฏิบัติงาน การสำรวจตลาด การวางแผนผลิต การออกแบบผังการปลูก การวางระบบการปลูก การติดตั้งระบบน้ำ การเพาะกล้าพืช การย้ายปลูกต้นกล้า การจัดการดูแลรักษาพืช การจัดการเก็บเกี่ยวพืช การบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ การจัดการการขายผลผลิต และการจัดการบัญชี โดยนักศึกษา จะได้ใช้องค์ความรู้พื้นฐานที่ได้ศึกษามาลงมือปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน นับว่าเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างแท้จริง
โครงการนี้ ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาคนตกงาน แต่ยังช่วยเตรียมการให้นักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบจากการว่างงาน ได้ลงสนามจริงร่วมกับชุมชน เตรียมพร้อมเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างผลผลิตร่วมกับชุมชนอีกด้วย