ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คั้นน้ำส้มขาย แบบไหน ต้องมีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่กองอาหาร อย.แจง
เจ้าหน้าที่กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูล เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ กรณีแม่ค้ารายหนึ่ง โดนล่อซื้อน้ำส้มคั้น 500 ขวด กระทั่งออกมาโพสต์ตัดพ้อ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่น่าซ้ำเติมคนทำมาหากินนั้น ว่า การออกตรวจเป็นหน้าที่ปกติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นการสุ่มตรวจ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ไม่แน่ใจว่าเป็นหน่วยงานใดเข้าไปดำเนินการ จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดแทนได้
เมื่อถามถึงข้อสงสัย การคั้นน้ำส้มขาย ต้องมีการขออนุญาตอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ เจ้าหน้าที่กองอาหาร อย. อธิบายว่า การผลิตอาหารขายนั้น มี 2 ลักษณะ ถ้า ผลิต ต้ม ผสม ทำอาหารและเครื่องดื่ม แล้วจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภค เช่น ทำในร้านอาหาร ขายหน้าร้าน ทำขนมหลังบ้าน อบหลังบ้าน แล้วขายหน้าบ้านตัวเอง แบบนี้ไม่ต้องขออนุญาตจากกองอาหาร เพราะถือเป็นการจำหน่ายโดยตรงให้กับผู้บริโภค ผู้ขายสามารถให้ข้อมูลกับผู้บริโภคได้
แต่ถ้าวันใดก็แล้วแต่ ผู้ประกอบการมีการผลิต ติดฉลาก แล้วมีการนำไปวางจำหน่าย ณ สถานที่อื่น ซึ่งไม่ใช่สถานที่ผลิต กรณีนี้ จำเป็นต้องมาขออนุญาตในเรื่อง สถานที่ผลิตอาหาร เนื่องจากเข้าข่าย พ.ร.บ.อาหาร 2522 ว่าจะต้องได้รับอนุญาตสถานที่ผลิตก่อน ถึงจะได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารได้
“ถ้าจะขาย น้ำเต้าหู้ หรือ ขายข้าวแกง หน้าบ้าน หน้าร้านตัวเอง ไม่ต้องขออนุญาต กับกองอาหาร แต่ถ้าผลิตสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วนำไปจำหน่ายอีกที่หนึ่ง ยกตัวอย่าง นำขนม หรือ น้ำส้ม ไปฝากขายร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน แบบนี้ต้องมาขออนุญาต ซึ่งกรณี น้ำส้มคั้น รายนี้ อาจเป็นรายใหญ่ รับผลิตให้หลายเจ้า มีวางขายที่นั่น ที่นี่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ต้องขออนุญาตจากกองอาหาร อย. ให้ถูกต้องก่อน” เจ้าหน้าที่กองอาหาร ระบุ
ก่อนบอกต่อ เลข อย. มี 13 หลัก 8 หลักแรก คือ สถานที่ผลิต 5 หลักหลัง เป็นเลขผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการต้องขอครบกระบวนการถึงจะจัดจำหน่ายได้ ฉะนั้นต้องมีการขออนุญาต 2 ขั้นตอน คือ สถานที่ และ ผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน กองอาหาร มีคู่มือประชาชน จะบอกรายละเอียดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย ขั้นตอนการตรวจประเมิน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ไว้อย่างละเอียด ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัด ติดต่อขออนุญาตที่สาธารณสุขจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ติดต่อได้ที่กองอาหาร อย. กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
เจ้าหน้าที่ท่านเดิม บอกอีกว่า พ.ร.บ.อาหาร ออกมาตั้งแต่ ปี 2522 ถ้าใครประสงค์ผลิตเพื่อจำหน่าย กองอาหาร มีขั้นตอนกำหนดชัดเจน ข้อดีของการขอเลขสารบบ อย. คือ ผลิตภัณฑ์นั้น มีสัญลักษณ์การจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการ อาหารนั้น สามารถกระจายได้กว้างขวางขึ้น และทุกวันนี้ลูกค้าเอง ก็มีความต้องการทราบสินค้านั้นๆ มีเลข อย.หรือไม่
“ขายแค่หน้าบ้านตัวอง จะขอเลข อย.ก็ได้ เปิดโอกาสให้หมด กองอาหาร มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ประกอบการอยากได้เลข อย. นำผลิตภัณฑ์มาคุยได้เลย แต่เบื้องต้นต้องทำสถานที่ผลิตให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดด้วย” เจ้าหน้าที่กองอาหาร อย. กล่าว