เดินหน้าวิจัย กระท่อม สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อินเตอร์ ฟาร์มา จับมือ ม.สงขลานครินทร์

เดินหน้าวิจัย กระท่อม สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อินเตอร์ ฟาร์มา จับมือ ม.สงขลานครินทร์

ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อินเตอร์ ฟาร์มา เป็นผู้นำในการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย ที่มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดีและคุ้มค่าที่สุด และที่ผ่านมา อินเตอร์ ฟาร์มา ได้เดินหน้าพัฒนางานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตอบโจทย์คนไทยอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด มีการลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเล็งเห็นคุณประโยชน์ของกระท่อม และ สารสกัดจากกระท่อม ที่สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม โภชนบำบัด ยา     และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ด้านสุขภาวะให้กับประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์

ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน)

โดยทางอินเตอร์ ฟาร์มา เข้ามาร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งห้องปฏิบัติการ สมทบงบประมาณในการทำงานวิจัย บุคลากร เป็นต้น ซึ่งทางอินเตอร์ ฟาร์มา เชื่อมั่นว่า หากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านการเกษตรการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีทางชีววิทยาศาสตร์ อีกทางหนึ่ง

ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ม.สงขลานครินทร์ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรม และสังคม เป็นกลไกหลักในการพัฒนางานวิจัยของภาคใต้ และครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีและยินดีที่ทางบริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา ได้ร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ได้จริงและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันใน MOU ฉบับนี้

สำหรับงบประมาณหลักในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระท่อมในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยทางอินเตอร์ ฟาร์มา และ ม.สงขลานครินทร์ มีขอบเขตงานวิจัยหลักๆ อาทิ ร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านกระท่อมและสารสกัดจากกระท่อม รวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองหน่วยงาน, ร่วมกันส่งเสริม พัฒนาความรู้และงานวิจัย ทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องมือ วัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือ สิ่งสนับสนุนอื่นๆ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานและประเทศ เป็นต้น