แนะ 10 วิธีรับมือ เมื่อธุรกิจเริ่ม ‘หมุนเงินไม่ทัน’

ภาพจาก https://www.freepik.com/
ภาพจาก https://www.freepik.com/

เงินขาดสภาพคล่อง ไม่พอกับรายจ่าย หมุนเงินไม่ทัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการได้ โดย ธนาคารกรุงเทพ ได้แนะนำวิธีรับมือเพื่อให้ยอดกระแสเงินสดลื่นไหลไม่มีปัญหา ดังนี้

  1. พิจารณาค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน

อาจจะทำเป็นบัญชีรายรับ รายจ่ายขึ้นมาเลย อาจเป็นบัญชีง่ายๆ เมื่อเราพอจะเห็นแล้วว่าอย่างน้อยต้องมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าตึก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน ภาษี แล้วรายรับที่ได้รับนั้นสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ เพียงพอสำหรับหมุนเวียนในแต่ละเดือนหรือเปล่า

  1. ให้ลูกค้าวางมัดจำ

การวางมัดจำเป็นการลดความเสี่ยงในการทำงานของเรา และยังสามารถนำเงินมัดจำนั้น มาใช้ในการทำโปรเจ็กต์ดังกล่าวได้ด้วย

  1. ทำบัญชีเงินสดรับ เงินสดจ่ายล่วงหน้า

วิธีนี้เหมือนกับการกางแผนที่ จะทำให้เห็นภาพรวมว่าธุรกิจมีกระแสเงินสดเป็นอย่างไร อีกเดือนสองเดือนข้างหน้าเงินสดพอหรือไม่ ถ้าไม่พอรายการไหนบ้างที่สามารถปรับเพื่อช่วยให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น

หากใครไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ลองเริ่มแบบง่ายๆ ด้วยการ List รายการที่เป็นกระแสเงินสดรับทั้งหมดของเดือนหน้าออกมา นำมาลบกับ List รายการที่เป็นกระแสเงินสดจ่ายทั้งหมดของเดือนหน้า ก็จะเท่ากับเงินสดคงเหลือเดือนหน้า จากนั้นก็ยกยอดเงินสดที่เหลือไปเดือนถัดไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้ล่วงหน้าหลายๆ เดือน ถ้าเงินสดคงเหลือเดือนไหนติดลบ รีบหาสาเหตุวางแผนแก้ไขล่วงหน้า เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในเดือนนั้นๆ

  1. ปรับธุรกิจให้มีรายได้หลากหลายช่องทาง

ถ้าธุรกิจใครได้รับเงินเป็นก้อนตามโปรเจ็กต์ ซึ่งกว่าจะได้รับเงินแต่ละก้อนก็หลักเดือน อาจจะลองปรับธุรกิจให้มีรายได้แบบอื่นด้วย เช่น เก็บรายเดือน หรือมีโปรเจ็กต์เล็กๆ บ้าง เพื่อจะได้เก็บเงินได้เร็วขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่กำไรจะน้อยกว่าโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ แต่ก็เป็นส่วนที่ช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนสม่ำเสมอ

  1. ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินออกไป

เมื่อกระแสเงินสดได้รับผลกระทบ หนึ่งในมาตรการป้องกันแรกที่ต้องพิจารณา คือการชะลอการชำระเงิน เจ้าของกิจการอาจเจรจาต่อรองขยายกำหนดเวลาการชำระเงินกับผู้ขายและซัพพลายเออร์รายอื่นๆ แทน ซึ่งถ้ามีประวัติการจ่ายตรงเวลาก่อนหน้านี้ พวกเขาอาจยินดีที่จะเลื่อนเวลาการจ่ายเงินให้เพิ่มอีก 2-3 วัน หรือหลายสัปดาห์ ฉะนั้น การชำระเงินที่ตรงเวลาสามารถช่วยยามฉุกเฉินได้

  1. เจรจาเงื่อนไขการชำระเงินใหม่

หากเจ้าหนี้เปิดโอกาสให้ชำระเงินล่าช้าในระยะเวลาสั้นๆ ได้ ลองใช้จังหวะนี้เปิดการเจรจาถึงโครงสร้างการชำระเงินที่มีอยู่ให้เป็นแบบระยะยาวมากขึ้น เช่น ถ้าปกติกำหนดการชำระเงินอยู่ที่ 30 วัน แต่คิดว่าจะต้องเจอกับปัญหากระแสเงินสดแบบนี้ทุกๆ เดือน ลองเจรจาขยายกรอบการชำระเงินออกไปเป็น 45 วัน เพื่อให้มีเวลาในการหาเงินมาจ่ายได้มากขึ้น

  1. การขาย Cheque

บางครั้งหากหมุนเงินไม่ทันจริงๆ การขายเช็ค หรือขายเงินล่วงหน้าก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องไม่ลืมดูว่าการที่ธุรกิจจะได้เงินน้อยลงนั้นคุ้มค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียหรือไม่ นอกจากนี้ ควรลองเช็กค่าใช้จ่ายกับดอกเบี้ยธนาคารที่ต้องกู้ยืมมาด้วย

  1. เซฟค่าใช้จ่าย

เมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤตทางการเงิน คนทำธุรกิจยิ่งต้องเข้าไปดูเรื่องของการใช้จ่ายแบบใกล้ชิดมากเท่านั้น โดยเฉพาะต้องทำการตรวจสอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อดูว่ามีอะไรที่สามารถระงับ-ตัดออกได้หรือไม่ เช่น หากยอดขายลดลง การลดคำสั่งซื้อสินค้ารายสัปดาห์หรือรายเดือน อาจเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง รวมถึงลดการบริการสมัครสมาชิกซ้ำลง ดังนั้น ยิ่งตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้มากเท่าไร ยิ่งสามารถนำกระแสเงินสดกลับคืนมาได้มากขึ้นเท่านั้น

  1. อย่าสต๊อกเยอะเกินไป

ยิ่งสต๊อกเยอะ กระแสเงินสดจ่ายก็จะยิ่งมากตามไปด้วย จนอาจทำให้กระแสเงินสดรับขาดสภาพคล่อง ดังนั้น ควรวางแผนดีๆ หากจำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบเยอะจริงๆ ก็ควรหาเงินสดรับให้เพียงพอด้วย

  1. ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง ช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อการเงินเดินสะดวก กิจการก็จะไม่เสียเครดิต และยังเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา ธนาคารกรุงเทพ