พูดกันมาหลายปี ยก ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่ยังไร้แอ๊กชั่นจริงจัง

พูดกันมาหลายปี ยก ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่ยังไร้แอ๊กชั่นจริงจัง

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ กรณีก่อนหน้านี้ ออกมาเผยแพร่ผลงานวิจัย ระบุ เลือดตัวเงินตัวทอง มีสรรพคุณทางยา ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และ แบคทีเรียบางชนิด ซึ่งจะมีการวิจัยต่อยอดหาผลยับยั้งไวรัส โดยเฉพาะโคโรน่าไวรัส ได้ด้วยหรือไม่ นั้น ว่า การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ออกข่าวงานวิจัยนี้ไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากผลักดันให้ ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

โดยเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว ม.มหิดล จัดเวทีประชุมวิชาการ เรื่อง สถานการณ์เหี้ย ครั้งแรกในประเทศไทย มีนักวิชาการทุกแขนงมาช่วยกันประเมินว่า ตัวเงินตัวทอง ควรจะอยู่อย่างไร เพราะปัจจุบันเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่มีหลายฝ่ายบอก ถ้ามีจำนวนเยอะขนาดนั้นจะไปคุ้มครองทำไม แต่พอมาพิจารณาถึงเหตุผลทางระบบนิเวศน์ ปรากฏเห็นตรงกัน ตัวเงินตัวทอง จำเป็นต้องมีอยู่ในระบบนิเวศน์

แต่เนื่องจากสภาพความเป็นจริง ประชากรตัวเงินตัวทอง กลับไปหนาแน่นในบริเวณที่มนุษย์รำคาญ แต่สถานที่ที่อยู่ได้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เช่น ในป่า ก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ถ้าวันนี้ไปปลดจากสัตว์คุ้มครอง ตัวเงินตัวทองต้องสูญพันธุ์แน่ เพราะต้องยอมรับมีผู้คนบางส่วนนิยมล่ามัน ที่ประชุมตอนนั้น จึงสรุปว่าหนทางที่ดีที่สุด คือ ควรเพิ่มในประกาศ  คือ ให้ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่เห็นมีประกาศลักษณะดังกล่าวออกมา

ข่าวเกี่ยวข้อง : มั่นใจ เลือดตัวเงินตัวทอง คือ หนึ่งทางเลือก เหมือนกระชายขาว ฟ้าทะลายโจร

“ถ้าวิจัยชัดแล้วว่า เลือดตัวเงินตัวทอง มีประโยชน์ในทางการแพทย์ และมีประโยชน์พื้นๆ ด้วย เช่น เนื้อ หนัง ไข่ นำไปใช้ประโยชน์ได้ เหมือนกับจระเข้ ก็น่าจะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะต้องยอมรับภาพรวมของธุรกิจฟาร์มจระเข้ เริ่มลดลง  ถ้าเปลี่ยนมาเป็นฟาร์ม ตัวเงินตัวทอง ธุรกิจด้านนี้อาจกระเตื้องขึ้น” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าว

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และว่า การออกประกาศ ให้ ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์คุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ คือ แนวทางที่ถูกต้อง และถ้ามีประกาศออกมาถูกต้องตามกฎหมายเมื่อไหร่ จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปเคลื่อนย้ายประชากร ไปไว้ในที่เหมาะสมได้ แต่ถ้ามีคนอยากใช้ประโยชน์อื่นๆ ก็ต้องไปทำฟาร์ม ไปเพาะออกมา เหมือนสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่น

“ถ้าทำได้ครบวงจร จะเกิดผลดีกับเกษตรกรมาก เช่น ใครทำฟาร์มไก่ มีไก่เป็นร้อยเป็นพันตัว ที่อัตราการตายต่อวันสม่ำเสมอ  เกษตรกรนั้น สามารถเพิ่มรายได้ ด้วยการทำ ฟาร์มตัวเงินตัวทอง ควบคู่กันไป โดยนำไก่ที่ตายแต่ละวันให้เป็นอาหารให้ตัวเงินตัวทอง เป็นการลดต้นทุนทางหนึ่ง แต่ถ้าใครไม่อยากฆ่า หากในอนาคต งานวิจัยของผมประสบความสำเร็จ สามารถใช้เลือดจากเงินตัวเงินทองได้ แล้วปล่อยไป ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเพื่อฆ่า เหมือนสัตว์เศรษฐกิจอื่น” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าว

เมื่อถามถึงภาคเอกชนให้ความสนใจหรือไม่ เจ้าของงานวิจัย บอก ยังเป็นต้นทางของการวิจัย ภาคเอกชนรู้ดีว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสำเร็จ จึงยังไม่มีใครมาทาบทามอะไร และตราบใดที่ ตัวเงินตัวทอง ยังไม่มีการประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองแต่เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งนำไปสู่การยกให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ภาคเอกชนไม่สนใจมาลงทุนอยู่แล้ว