เลือด ตัวเงินตัวทอง มีคุณสมบัติทางยา ม.มหิดล วิจัยจริงจัง หวังพิชิตโรคอุบัติใหม่

เลือด ตัวเงินตัวทอง มีคุณสมบัติทางยา ม.มหิดล วิจัยจริงจัง หวังพิชิตโรคอุบัติใหม่
เลือด ตัวเงินตัวทอง มีคุณสมบัติทางยา ม.มหิดล วิจัยจริงจัง หวังพิชิตโรคอุบัติใหม่

เลือด ตัวเงินตัวทอง มีคุณสมบัติทางยา ม.มหิดล วิจัยจริงจัง หวังพิชิตโรคอุบัติใหม่

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข                    คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาโรคติดเชื้อ นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งในโรคติดเชื้อ ที่กำลังทำให้โลกเกิดวิกฤตจากปัญหาการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

และท่ามกลางความพยายามผลิตวัคซีนจากภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 กันอย่างแพร่หลายนั้น ทางภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางยา จากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” เพื่อดูฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็ง แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคอุบัติใหม่ รวมทั้ง โควิด-19 ซึ่งหากบรรลุผลตามเป้าหมาย จะกลายเป็นรายแรกของโลก

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้ ตั้งต้นมาจากสมมุติฐานที่ว่า ทำไม “ตัวเงินตัวทอง” ถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต และแม้ในน้ำเน่าเสีย จึงเกิดความคิดจะศึกษาถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว โดยทำการขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดจาก “ตัวเงินตัวทอง” ที่มีลักษณะสมบูรณ์ มาศึกษาทางโปรตีน ในห้องปฏิบัติการ

และใช้เลือดตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเบื้องต้นพบว่า เลือดจาก “ตัวเงินตัวทอง” ที่มีลักษณะสมบูรณ์ มาศึกษาทางโปรตีน มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ดังนั้นจะมีการต่อยอดเพื่อศึกษาการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึง โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ได้อีกด้วย

ภารกิจงานวัจัย

“ในขณะที่โลกมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลาย แต่การรักษายังคงเป็นไปตามอาการ ไม่มียาใดที่ใช้รักษาได้โดยตรง ในบางกรณีก็อาจรักษาโดยใช้ยาต้าน HIV ซึ่งไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย หากสามารถพัฒนายาใหม่ขึ้นมาได้ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่จะเพิ่มความหวังให้กับมวลมนุษยชาติ” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าว

และว่า แม้ “ตัวเงินตัวทอง” กำลังใกล้สูญพันธุ์จากการถูกล่า จนได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และล่าสุด กำลังมีการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติที่จะทำให้ “ตัวเงินตัวทอง” กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งหากทำได้จริง จะส่งผลดีต่อการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” ต่อไป เนื่องจากจะมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่าง “ตัวเงินตัวทอง” ที่อยู่ในธรรมชาติ และ “ตัวเงินตัวทอง” ที่อยู่ในระบบฟาร์ม ซึ่งจะมีการดูแลที่ต่างวัตถุประสงค์กัน เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าวจนถึงปลายน้ำ เพราะหากอนาคตต้องใช้ประโยชน์จาก “ตัวเงินตัวทอง” การเพาะพันธุ์ในระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามาก

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าวต่อ ก้าวต่อไปก่อนที่จะทำให้โลกได้เข้าใกล้ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นจริงที่จะสามารถพัฒนายาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” เพื่อพิชิตนานาโรคร้ายที่กำลังเป็นปัญหาของมนุษย์ คือ การพิสูจน์ให้มั่นใจได้ว่า นอกจากสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง และแบคทีเรีย บางชนิดแล้ว จะไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์ ก่อนจะดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จในเบื้องต้นภายในปลายปี 2564 นี้ ก่อนเดินหน้าศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านไวรัสที่ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยเริ่มจากไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และ โควิด-19 ต่อไป

เพื่องานวิจัย

“คนและสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็น One Health ซึ่งเมื่อเกิดโรคอาจถ่ายทอดจากคนสู่สัตว์ และสัตว์สู่คนได้ สัตวแพทย์ในทุกวันนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรักษาสัตว์  แต่เพื่อสุขภาวะของทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือวิชาชีพใดๆ ก็สามารถทำประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ของตน มุ่งผลเพื่อผู้อื่น สิ่งที่ได้ คือ ความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก และมีความถนัด ซึ่งจะทำให้ทุกวันของเราได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายต่อไป” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล กล่าวทิ้งท้าย