หนุนชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ยกระดับกรรมวิธีขายอาหาร พึ่งพาตนเอง

หนุนชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ยกระดับกรรมวิธีขายอาหาร พึ่งพาตนเอง

ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน เป็นชุมชนแออัดย่านใจกลางเมือง ตั้งอยู่บนที่ดินการรถไฟ  แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่เล็กๆ ที่มีตึกสูงใหญ่ล้อมรอบแห่งนี้ มีผู้คนลงหลักปักฐานอยู่ราว 1,800 คน ทำเลที่ตั้งของชุมชนอยู่ใกล้ย่านธุรกิจการค้า และอาคารสำนักงาน ทั้งตลาดประตูน้ำ สถานีรถไฟฟ้าชิดลม ซอยนานา รวมถึงตลาดนีออน เรียกได้ว่าเป็นทำเลที่คึกคักและเต็มไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะคนทำงานและนักท่องเที่ยว

คนวัยทำงานชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพค้าขายอาหารตามตลาด และริมทางย่านการค้าบริเวณไม่ไกลจากชุมชน บางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย เป็นลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้า (ตลาดประตูน้ำ) ขับรถรับจ้าง ไม่ก็เป็นลูกจ้าง รับจ้างทำงานทั่วไปตามสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม คำว่า “คึกคักเต็มไปด้วยผู้คน” ใช้ไม่ได้อีกแล้วกับพื้นที่ละแวกนี้ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาคืบคลาน

จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นศูนย์ สถานประกอบการ กิจการร้านรวงต่างๆ หลายแห่งได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นโดมิโน คือ การตกงานและปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน

ด้วยเหตุนี้ สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อชุมชน จากการรวมกลุ่มของผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการจัดการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาชุมชน จึงได้เข้ามาสนับสนุน “โครงการพัฒนาและยกระดับการประกอบอาชีพทำอาหารขายหลังวิกฤตโควิด-19 ในชุมชนเมืองริมทางรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตและคิดทางรอดให้ชุมชน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ลดราวาศอกลงไปง่ายๆ

กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 50 คน เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก มีทั้งผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหางานทำได้ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจปิดตัว กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและมีหนี้สิน กลุ่มผู้ขาดทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ และกลุ่มผู้สูงอายุที่รายได้น้อยและยังสามารถประกอบอาชีพได้

“กลุ่มเป้าหมายที่มาเข้าร่วมมีความหลากหลาย ทั้งพื้นฐานความรู้และอายุ ส่วนใหญ่มีพื้นฐาน ทักษะด้านการทำอาหารอยู่แล้ว เพราะค้าขายอาหารอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่เคยได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดให้มีไอเดียต่อยอด เรามองว่าโครงการเข้ามาพัฒนายกระดับทักษะเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ และไม่ได้แค่เข้ามาสอนอาชีพการทำอาหาร เราทำงานกับผู้นำชุมชน สำรวจความต้องการของคนในชุมชนก่อน การอบรมในขั้นตอนต่างๆ ชวนกลุ่มเป้าหมายคิด วางแผนชีวิตแล้วลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง สร้างเป้าหมายของตัวเอง มองเห็นความสำคัญของตัวเอง และช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม” คุณจงกลกร สิงโต นายกสมาคมฯ กล่าว

โครงการนี้เข้ามาส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การสำรวจความต้องการที่แท้จริงของชุมชน  การฝึกอบรม “ความรู้” และ “วิธีคิด” เช่น การวางแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ หลักปฏิบัติในการประกอบอาชีพทำอาหารในยุค New Normal การทำบัญชีครัวเรือน การคำนวณต้นทุนและราคาขาย และการใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดียเพื่อขยายโอกาสทางการค้าขาย การฝึกอบรม “ทักษะ” การทำอาหารที่มีความหลากหลายกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประกอบอาหาร ทั้งหมด 8 ครั้ง 7 เมนู (กำหนดให้เลือกเรียนอย่างน้อย 3 ครั้ง) ได้แก่ หมูฝอยกับไก่ฝอย ทาโกะยากิ น้ำพริกกากหมู แคบหมูกับหมูเชียงฮาย น้ำจิ้มต่างๆ เช่น น้ำจิ้มปิ้งย่าง ลูกชิ้น และสุกี้ วุ้นกับขนมกล้วย และก๋วยเตี๋ยวลุยสวนกับสลัดโรล นอกจากนี้ยังสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายพร้อมลงมือทำและตั้งหลักชีวิตได้ทันที  ทั้งยังติดตามและประเมินผล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

“คนในชุมชนเป็นกลุ่มหาเช้ากินค่ำ หาวันหนึ่งกินอีกสองวันไม่พอ การที่เขามีทักษะติดตัว ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเขาก็นำความรู้และทักษะไปสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้” คุณปนัดดา สังฆทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าว

“เราคิดตั้งแต่ต้นว่าจะออกแบบกระบวนเรียนรู้อย่างไร ที่เมื่อทีมงานออกมาจากชุมชนแล้ว ผลลัพธ์ยังติดตัวกับเขาอยู่ และสามารถพัฒนาต่อไปได้” คุณกรพล จั่นจิรภัทร วิทยากรและผู้ติดตามโครงการ กล่าวเสริม

คุณสุมิตรา วุฒิวารี อายุ 63 ปี ประธานชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน เล่าว่า ด้วยบริบทชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันที่เป็นชุมชนแออัด และกำลังจะถูกไล่รื้อ สิ่งที่เราต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมให้กับคนในชุมชน ทั้งเรื่องการฝึกทักษะอาชีพ และการออมทรัพย์ ถ้าเราโดนไล่รื้ออย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีทุนและมีอาชีพติดตัว โดยเฉพาะการฝึกทักษะอาชีพการทำอาหาร เพราะคนในชุมชน 60 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพค้าขายอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ขายแบบตามมีตามเกิด หรือขายตามความเคยชิน ไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร เช่น ลูกค้าต้องการซื้ออาหารที่มีรสชาติอร่อย แล้วยังต้องมีรูปลักษณ์สวยงามน่ากิน เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งโครงการนี้ก็ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี

“การทำอาหาร ทุกคนทำเป็น แต่รสชาติไปได้ไหม หน้าตาอาหารไปได้ไหม เป็นโครงการแรก ที่ให้ ‘สมอง’ คนในชุมชน แถมยังเหมาะกับสถานการณ์ในยุคโควิด ที่ทำให้คนตกงาน คนที่ขาดรายได้ในชุมชนอยู่ได้ ตอนถามเขาว่าเขาขายของได้ไหม เราก็ไม่รู้ แล้วเขาตอบว่า ‘เขาอยู่ได้’ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว”

คุณลำไย รุ่งเรือง อายุ 66 ปี อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว เล่าว่า ป้าขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ริมทางรถไฟมักกะสันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากหม้อก๋วยเตี๋ยวเก่ารั่ว ป้าจึงใช้หม้อเล็กๆ 2 ใบใช้ขายก๋วยเตี๋ยว โดยแต่ละวันป้าต้องซื้อถ่านใช้วันละ 160 บาท รายได้จึงหมดไปกับค่าถ่านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ นอกจากป้าจะได้ความรู้เรื่องการทำหมูหย็อง ไก่หย็อง น้ำพริกกากหมู และการทำแคบหมู ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดกับการขายก๋วยเตี๋ยวได้แล้ว ป้ายังได้รับทุนสนับสนุนในการซื้อหม้อก๋วยเตี๋ยวใหม่ ทำให้ป้าลดต้นทุนค่าถ่านลงได้มากเลย แถมหม้อก๋วยเตี๋ยวที่ได้ยังถูกสุขลักษณะอีกด้วย

“ก่อนนี้ต้องซื้อถ่านใช้วันละ 8 ถุง คิดเป็นเงินก็วันละ 160 บาท ตอนเปลี่ยนมาเป็นใช้แก๊ส 10 วัน/ถัง ราคาถังละ 370 บาท ถือว่าประหยัดต้นทุนได้มาก แถมป้ายังขายก๋วยเตี๋ยวได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย สมใจและดีใจมาก”

คุณฉวี แสงปาน อายุ 45 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เธออาศัยอยู่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันมาประมาณ 20 ปี ก่อนนี้ทำอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดโรงแรมมีรายได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท เมื่อธุรกิจโรงแรมไม่สามารถไปต่อได้ด้วยพิษโควิด-19 เธอถูกเลิกจ้างกะทันหัน ไม่ต่างจากสามีที่กลายเป็นคนตกงานเช่นกัน แม้ได้รับเงินมาจำนวนหนึ่งจากการถูกเลิกจ้าง แต่การดูแลครอบครัวรวมลูกอีก 3 คนซึ่งอยู่ในวัยเรียน โดยคนโตอายุ 23 ปี กำลังเรียนบัญชีอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่วนคนที่ 2 และ 3 เป็นฝาแฝดชายเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตที่รายจ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายได้เสริมเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว และทำให้เป็นกังวล

หลังถูกเลิกจ้าง เธอเลือกเปิดร้านอาหารตามสั่ง ไม่ใช่เพราะทำอาหารเก่ง แต่เพราะอับจนหนทาง สามีทำงานเก็บขยะอยู่ที่สำนักงานเขต ถ้าหวังพึ่งรายได้จากสามีก็ไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูครอบครัว สิ่งที่คิดได้ตอนนั้น คือ อย่างน้อยคนยังต้องทานอาหารทุกวัน จึงใช้อุปกรณ์เครื่องครัวที่พอมีอยู่ เปิดขายอาหารตามสั่งหน้าบ้านเป็นทางเลือกพอประทังชีวิต ตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายน ปี 2563

“ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ตอนนั้นเริ่มโดนลดเงินเดือน หลังจากนั้นกิจการไปต่อไม่ได้ ทางโรงแรมก็แจ้งมาว่าขอจ้างออก เงินเลิกจ้างที่ได้มามันพอใช้แค่ในระยะสั้น แต่ระยะยาวเราก็ต้องคิดหาต้องดิ้นรน ไปหางานใหม่ที่ไหนก็ไม่รับ อาหารตามสั่งเราพอทำได้ ไม่ได้ลงทุนเยอะ วัตถุดิบต่างๆ ถ้ายังอยู่ในสภาพดี ไม่เน่าเสีย ไม่ได้เหลือทิ้ง เรายังเก็บไปใช้วันต่อไปได้ ขายอยู่หน้าบ้านตัวเองก็ยังมีรายได้ให้พอได้กินในแต่ละวัน แม้จะไม่มีรายได้ ขอแค่ไม่ต้องมีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นก็ยังดี” คุณฉวี กล่าว

เพราะมองเห็นโอกาสที่คุ้มค่ากับเวลาและรายได้ที่เสียไป คุณฉวี สละเวลายอมปิดร้านมาร่วมเรียนหลักสูตรทำอาหารเมนูต่างๆ ครบทั้ง 8 ครั้ง จากเดิมเปิดร้านขายอาหารตามสั่งเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ร้านเล็กๆ ของเธอขายก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก และกำลังหาเวลาทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไก่ฝอย น้ำพริก และแคบหมู มาวางขายอย่างจริงจัง หลังจากได้ทดลองทำให้คนในชุมชนชิมจนมีความมั่นใจในฝีมือปลายจวักของตนเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและช่วยเสริมรายได้ให้ครอบครัวต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยลูกๆ ทั้ง 3 คนก็ช่วยเหลือเธอเต็มที่ ทั้งวิ่งส่งอาหาร ช่วยล้างจาน จัดของ เก็บร้าน ช่วยทำทุกอย่างที่จะทำได้ ซึ่งทั้ง 3 คนจะจัดแบ่งเวรกันมาช่วยเหลือในแต่ละวัน

“รายได้จากการขายอาหารก็พอใช้ในแต่ละวัน ถ้าเราไม่ขายเราก็ใช้เงินหมดไปในแต่ละวัน การขายอาหารนอกจากจะมีรายได้แล้วยังช่วยประหยัดรายจ่ายได้อีกด้วย สำหรับครอบครัวหนึ่งค่าอาหารแต่ละมื้อไม่ใช่น้อย ๆ แต่ละวันก็หลายร้อยบาท บางวันเป็นพันบาท เราก็เอาเงินส่วนนั้นมาลงทุน ได้กำไรนิดหน่อย แต่เราก็ยังมีอาหารกิน มันก็พอเลี้ยงดูกันไปได้ แต่มันไม่มีเหลือเก็บ เพราะตอนนี้ข้าวของก็แพงทุกอย่าง ลูกค้าก็มีน้อยลง ส่วนมากจะมีแต่แม่ค้าเท่านั้น เพราะทุกคนตกงานก็มาขายของกันหมด ก็ยังดีที่ยังมีรายได้จากการขายอาหารอยู่บ้าง” คุณฉวี บอก

และว่า เธอไม่ได้สนใจใช้เทคโนโลยีมือถือมากนัก เมื่อมีโครงการต่างๆ ของรัฐเข้ามาสนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น ในช่วงต้นยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก เธอคงเข้าไม่ถึง แต่ความรู้จากการอบรมการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์จากโครงการ เป็นแรงกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้แล้วลงมือปรับเปลี่ยนตัวเอง ปัจจุบันร้านของคุณฉวีรองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด และแอพพลิเคชั่น เช่น ไทยชนะ คนละครึ่ง ยกระดับการให้บริการให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งอาหารง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเราเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ตั้งแต่ได้มาเรียนรู้ด้านอาชีพกับโครงการตอนนี้กล้าขาย กล้าคุย เพราะมีความมั่นใจมากขึ้น ที่มาเข้าร่วมโครงการเพราะอยากได้อาชีพเสริม และชอบทำอาหารอยู่แล้ว เราทำอาหารขายคนเดียว บางวันมันไม่ไหว เผื่อลูกต้องไปโรงเรียนไม่มีคนช่วย เราจะได้ทำอย่างอื่นได้อีก เคยคิดอยากไปหาเรียนคอร์สทำอาหารแต่มันก็มีค่าใช้จ่าย พอมีโครงการเข้ามา มีวิทยากรมาสอนฟรี เลยลงเรียนครบทั้ง 8 ครั้งเพราะเป็นทักษะที่นำไปใช้ต่อได้ เรื่องการทำบัญชีต้นทุน บัญชีรายรับรายจ่ายทำให้รู้หลักการออม รู้ระเบียบในการจับจ่ายใช้สอย เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้ทำ ความรู้ตรงนี้เป็นประโยชน์เวลามาคำนวณซื้อวัตถุดิบที่ใช้ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ลดจำนวนลง รู้ว่าสิ่งไหนสำคัญไม่สำคัญ สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่โครงการสอนมาก็ทำให้เรามีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น” คุณฉวี กล่าวทิ้งท้าย