วิกฤตระลอก 3 ดันยอดใช้งาน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต โต

วิกฤตระลอก 3 ดันยอดใช้งาน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต โต
วิกฤตระลอก 3 ดันยอดใช้งาน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต โต

วิกฤตระลอก 3 ดันยอดใช้งาน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต โต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำธุรกรรมผ่าน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต เติบโตเร่งสูงขึ้น โดยจากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคไทยมีการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต อยู่ที่ 19 ครั้งต่อสัปดาห์ สูงกว่าการใช้งานในช่วงการระบาดระลอกแรกที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 17 ครั้งต่อสัปดาห์

ขณะที่มีผู้บริโภคกว่า 53.9% มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ยอดการซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 350 บาท เน้นการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค และสินค้าแฟชั่น เหมือนผลสำรวจครั้งก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ปี 2564 ปริมาณการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน โมบายแบงกิ้ง จะขยายตัวราว 80.2-83.5% เร่งขึ้นจากปี 2563 ที่ 79.7% เช่นเดียวกับปริมาณธุรกรรมผ่าน e-Money ที่คาดว่าจะเติบโตราว 15.8-18.0% สูงกว่าปี 2563 ที่ 8.7%

ทั้งนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมผ่าน e-Money ที่เร่งตัวขึ้นน่าจะมีแรงผลักดันหลักจากการใช้ G-Wallet (เป๋าตัง) จากโครงการของรัฐ รวมถึงได้รับแรงผลักดันจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาทำการตลาดมากขึ้น

ผลสำรวจชี้ ปัจจุบันผู้บริโภคราว 71.3% ถือ โมบายแบงกิ้ง ขณะที่ถือ อีวอลเล็ต 28.6% แต่ในอนาคตผู้ให้บริการอาจต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนแอพพลิเคชั่นใช้งานหากมีแรงจูงใจที่ดี

ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า ปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้มีการใช้ อีวอลเล็ต คือ ความสะดวกสบาย (34.4%) มีโปรโมชั่นที่จูงใจ (16.9%) มีร้านค้าที่ร่วมบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการที่หลากหลาย (16.2%)

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ราว 32.3% มี โมบายแบงกิ้ง และ อีวอลเล็ต มากกว่า 5 แอพพลิเคชั่น ซึ่งผู้ให้บริการอาจต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาฐานลูกค้า และจูงใจให้ลูกค้าใช้งานต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากทางการไทยสามารถเข้ามาดูแลกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็อาจมีผลต่อทิศทางหรือรูปแบบการชำระเงินเช่นกัน