เตือนคนไทยใช้เสื้อหนาว ฝ้าย-ขนสัตว์เก่า เสี่ยงไรฝุ่นเชื้อรา มอดแมลง ใส่แล้วอาจหายใจติดขัด แนะเจอ จุดสีขาว-ดำ-ชมพู ต้องตัดใจทิ้ง

นักวิทยาศาสตร์สิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกมาเตือนคนไทยที่กำลังเตรียมหาเสื้อกันหนาวที่ทำจากผ้าฝ้าย-ขนสัตว์ เพราะเสี่ยงมีเชื้อราสูง หากเก็บนานเกิน 1 ปี เนื่องจากเป็นชนิดผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อรา ตัวมอด และแมลง

น.ส.จิราพร หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ให้ข้อมูลว่า จากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่กำลังปรับตัวหนาวเย็นในช่วงปลายปี หรือตลอดเดือนธันวาคม ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนเตรียมรื้อหาเสื้อกันหนาวตัวเก่งที่เคยเก็บไว้เมื่อปีที่ผ่านมากลับมาใช้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ เสื้อกันหนาวตัวเก่ง อาจเกิดการสะสมของไรฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย ที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางผิวหนังของบุคคลที่มีอาการภูมิแพ้ หรือภูมิต้านทานต่ำ อาทิ เด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งอาจก่อให้เกิดผื่นแดง อาการคัน และการหายใจติดขัดได้ ดังนั้น หากนำเสื้อกันหนาวกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง จึงควรระมัดระวัง และสังเกตความผิดปกติของลักษณะของเชื้อรา ซึ่งอาจมาในรูปของจุดสีขาว สีดำ หรือสีชมพู ฯลฯ ซึ่งหากเกิดในลักษณะดังกล่าว ควรตัดใจทิ้งทันที เพื่อสุขภาพที่ดีในช่วงหน้าหนาว

%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%a2%e0%b8%82%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%a7%e0%b9%8c-%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%a3

เส้นใยขนสัตว์ สำหรับเตรียมทำเสื้อกันหนาว

น.ส.จิราพร กล่าวว่า สำหรับเสื้อกันหนาวที่ไม่พบความผิดปกติ หรือการสะสมเชื้อราและแบคทีเรียในลักษณะดังกล่าว สามารถเลือกทำความสะอาดได้ตามชนิดผ้าซึ่งปัจจุบันชนิดผ้าของเสื้อกันหนาวที่ได้รับความนิยมมี 3 ประเภท ดังนี้ 1.เสื้อไหมพรม ส่วนมากจะทำมาจากเส้นใยประดิษฐ์ (ใยสังเคราะห์) ซึ่งการดูแลรักษาจะดูแลรักษาง่ายกว่าชนิดผ้าอื่นๆ เพราะไม่ยับ หรือยับน้อย ไม่ต้องรีด หรือรีดเพียงเล็กน้อย การซักผ้าเส้นใยประดิษฐ์นั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเส้นใย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถซักได้ในน้ำธรรมดากับสบู่ หรือใช้ผงซักฟอกที่มีด่างเข้มข้นได้ถ้าผ้านั้นมีความสกปรกมาก แต่ไม่ควรใช้สารฟอกขาว และควรตากด้วยการพาดบนราวตากผ้า แทนการแขวนด้วยไม้แขวน เพื่อป้องกันการเสียรูปของเสื้อ เนื่องจากเสื้อไหมพรม มีโครงสร้างผ้าเป็นห่วง (ผ้าถัก) และมีความยืดหยุ่นสูง

2.เสื้อที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย ลินิน) การดูแลรักษาของผ้าธรรมชาติ สามารถใช้ผงซักฟอกทั่วไปได้ แต่ไม่ควรใช้ส่วนผสมที่มีกรดผสมอยู่ เพราะจะไปทำลายเส้นใย โดยสามารถนำผ้าไปตากแดดได้ แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะแสงแดดจะเข้าไปทำลายเส้นใยของผ้า ขณะที่การรีดสามารถใช้ความร้อนได้ค่อนข้างสูง แต่ต้องดูลักษณะของเสื้อผ้าด้วยว่ามีเส้นใยอื่นๆ ผสมอยู่หรือไม่ ขณะที่การเก็บรักษาไม่ควรเก็บในที่ชื้น เพราะจะทำให้เกิดการขี้นราได้ง่าย

3.เสื้อขนสัตว์ควรซักในน้ำธรรมดากับสารซักฟอกอย่างอ่อน และอย่าขยี้แรง ควรทำความสะอาดด้วยวิธีการซักแห้งจะดีที่สุด เพื่อเป็นการรักษาและคงสภาพของผ้าขนสัตว์ ส่วนวิธีการรีด ควรใช้ไฟอ่อน เพราะจะทำให้ผ้ากลายเป็นสีเหลือง หรือเก่าเร็ว ทางที่ดีที่สุดควรใช้เตารีดไอน้ำหรือต้องใช้ความชื้นเข้าช่วยในการรีด และใช้ความร้อนในอุณหภูมิปานกลาง ขณะที่การเก็บรักษาผ้าขนสัตว์ควรระวังในเรื่องของมอดและแมลง เพราะผ้าขนสัตว์เป็นเส้นใยโปรตีน เป็นแหล่งอาหารของแมลง

%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%a1-2-768x519

อย่างไรก็ตาม หากหมดช่วงฤดูของการสวมใส่เสื้อกันหนาวแล้ว ควรซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย พับเก็บใส่ถุงซิปล็อค พร้อมกับรีดเอาอากาศภายในถุงออก เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อรา จากความชื้นของอากาศในถุง ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันตัวมอดที่เข้ามากัดกินทำลายโครงสร้างผ้า เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ฤดูหนาวในปีถัดไปสามารถนำเสื้อกันหนาวกลับมาใช้ได้เหมือนใหม่อีกครั้ง
สำหรับผู้สนใจต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 0 2564 4491 หรือคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
————-