อย่าปล่อยให้เราดิ้นกันเอง! ร้านอาหาร เสนอ 6 แนวทาง อยากให้รัฐรับฟัง

อย่าปล่อยให้เราดิ้นกันเอง! ร้านอาหาร เสนอ 6 แนวทาง อยากให้รัฐรับฟัง
อย่าปล่อยให้เราดิ้นกันเอง! ร้านอาหาร เสนอ 6 แนวทาง อยากให้รัฐรับฟัง

อย่าปล่อยให้เราดิ้นกันเอง! ร้านอาหาร เสนอ 6 แนวทาง อยากให้รัฐรับฟัง 

นอกจากเปิดร้านอาหาร “Penguin Eat Shabu – เพนกวินกินชาบู” แล้ว คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ยังเปิดเพจ Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการร้านอาหารจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง 

โดยเมื่อวานนี้ (5 พ.ค. 2564) เพจ Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ ได้โพสต์วิดีโอ “จากใจร้านอาหารถึงภาครัฐ” บอกเล่าถึงผลกระทบของร้านอาหารตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งร้านอาหารสามารถปรับตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบัน การแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเหมือนเดิม และไม่มีมาตรการที่ดีกว่าการสั่ง ห้ามนั่งทานที่ร้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

บอกวันนี้ปิดพรุ่งนี้ สุดท้ายคนที่ต้องแบกรับปัญหาก็คือร้านอาหาร หากถึงขั้นร้ายแรงก็อาจจะทำให้ร้านต้องปิดตัวลง ถ้าหากภาครัฐยังคงแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้อยู่

ในช่วงหนึ่งของวิดีโอ คุณต่อ-ธนพงศ์ ได้เสนอแนวทางถึงภาครัฐ สำหรับร้านอาหาร เพื่อหวังเป็นกระบอกเสียงให้กับเอสเอ็มอีคนอื่นๆ ระบุว่า 

1. ช่วยเยียวยาพนักงาน ธุรกิจร้านอาหารขับเคลื่อนด้วยการใช้แรงงานคน เมื่อหน้าร้านขายไม่ได้ ร้านไม่สามารถโยกคนทั้งหมด หรือแบกภาระค่าใช้จ่ายคนเพื่อมาทำดีลิเวอรี่ได้ ฉะนั้น จึงต้องมีพนักงานบางส่วนถูกให้ออก บางส่วนถูกหักเงินเดือน บางส่วน Leave without pay 

เมื่อรัฐประกาศห้ามนั่งทานที่ร้านแต่ไม่ยอมปิดห้าง ประกันสังคมก็บอกว่าไม่เข้าตามเงื่อนไขที่ถูกสั่งปิดกิจการจึงไม่จ่ายชดเชย แต่เราจ่ายประกันสังคมมากี่สิบปี สิ่งที่ขอความช่วยเหลือเทียบไม่ได้กับเงินที่จ่ายไปด้วยซ้ำ แล้วจะมีประกันสังคม มีภาครัฐไว้ทำไม ควรออกมาทำอะไรสักอย่าง

มาตรการสั่งห้ามนั่งกินที่ร้าน ควรบอกล่วงหน้า 3-4 วัน ไม่ใช่บอกวันนี้พรุ่งนี้ปิด ควรมีแผนการรองรับเพื่อผู้ประกอบการ ไม่ใช่ให้เราดิ้นกันเอง 

2. ช่วยคุยเรื่องลดค่าเช่า ปัจจุบันค่าเช่าคือสัดส่วน 40-50% ของยอดขาย เราจ่ายเงินค่าเช่าตามความดังของห้าง แต่ ณ วันที่ห้างไม่มีลูกค้า เราก็ควรได้รับส่วนลดตามจำนวนลูกค้าที่หายไปเพราะการที่เราเช่าห้างนั่นหมายถึงการเช่าพื้นที่ และใช้ศักยภาพของห้างพาลูกค้ามาหาเรา แต่วันที่ลูกค้าน้อยแบบนี้ห้างควรลดสัดส่วนตามจำนวนลูกค้าที่หายไป ซึ่งห้างรู้อยู่แล้วว่าหายไปกี่คน

ระลอกสามนี้เชื่อว่าหายไปเกิน 80% แน่นอน บางห้างยังคิดค่าเช่าเต็ม บางร้านค่าเช่า 300,000 บาท ลดให้ 20% คือ 60,000 บาท อีก 240,000 ร้านอาหารจะเอาที่ไหนจ่าย ภาครัฐควรเรียกแลนด์ลอร์ดมาต่อรองค่าเช่า 50% ให้ผู้ประกอบการ แต่ 50% นี้อาจจะเอาไปเป็นส่วนลดภาษีในงบการเงินครั้งต่อไปในปีถัดไปก็ได้ 

3. ช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ วันนี้แทบไม่มีลูกค้า และไม่ใช่ทุกร้านที่ทำดีลิเวอรี่ได้ ค่าน้ำค่าไฟยังเก็บเต็ม ภาครัฐแค่บอกว่าลดค่าน้ำไฟให้ 50% ก็ทำให้เรามีเงินส่วนนึงไปจ่ายพนักงาน เพนกวิน อีท ชาบู ค่าน้ำไฟเกิน 50,000-70,000 บาทต่อสาขา รวมทุกสาขาเราเสียค่าไฟกี่ล้านลองคูณดู 

4. ช่วยเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภาครัฐบอกให้ซอฟต์โลน แต่สุดท้ายธนาคารพาณิชย์ก็เลือกลูกค้าที่มีเครดิตกับแบงก์ นั่นหมายถึงเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ซึ่งบางคนไม่ได้ต้องการเงินแต่กลับถูกยัดเยียด ในขณะที่เอสเอ็มอีตัวเล็ก โดยเฉพาะร้านอาหารที่เป็นพื้นที่เช่า ธนาคารพาณิชย์รู้สึกว่าให้กู้ทำไม เจ๊งไปก็ไม่รู้จะยึดอะไร ไม่ได้มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ 

โควิดระลอกแรกร้านเล็กไปต่อไม่ไหว เอสเอ็มอีทยอยถูกกว้านซื้อโดยเจ้าใหญ่ หลังจากนี้อีกไม่เกิน 4-5 ปี ถ้าภาครัฐยังเป็นแบบนี้ ยังไม่มีนโยบายโอบอุ้มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด สตรีตฟู้ดหรือร้านในห้าง เจ้าของจะกลายเป็นเจ้าใหญ่ทั้งหมด

5. ช่วยต่อรองลด GP ดีลิเวอรี่แอพ เราเข้าใจธุรกิจดีลิเวอรี่แอพต้องมีกำไร และรู้ว่าส่วนใหญ่ขาดทุนเพราะสปอยลูกค้า ทำการตลาดลดแลกแจกแถม ทำให้ต้องเอาส่วนต่างจากร้านอาหารมากขึ้น เมื่อก่อนคิดค่า GP แค่ 20-25% ร้านอาหารยังพอวางโครงสร้างต้นทุนให้อยู่รอดได้ 

แต่ปัจจุบันถ้าสมัครดีลิเวอรี่แอพ ไม่มีอีกแล้ว 20-25% มีแต่ 35-38% ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ด้วย เมื่อต้องพึ่งดีลิเวอรี่ นั่นหมายถึงยอดขาย 100% อยู่กับดีลิเวอรี่แอพ แล้วโดนหักทุกออร์เดอร์ เป็นไปได้มั้ยภาครัฐเรียกดีลิเวอรี่แอพ 4-5 เจ้ามาคุย ว่าจะช่วยดีลิเวอรี่แอพยังไงแลกกับการลด GP ให้ร้านอาหารเหลือสัก 20% ให้เรา แล้วรอจนให้สถานการณ์ดีขึ้น นี่คือการช่วยจริงๆ 

6. ทำ Business Matching เอาผู้ซื้อกับผู้ขายมาชนกัน อาจจะเอาต้นทางวัตถุดิบมาเจอกับเจ้าของร้านเพื่อให้ร้านอาหารมีต้นทุนวัตถุดิบถูกลงโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง หรือจะทำออนไลน์อีเว้นต์ให้ลูกค้ามาเจอร้านอาหารโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรืออาจจะจัดเป็นออฟไลน์อีเว้นต์เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น อย่าลืมว่าภาครัฐมีสถานที่มากมายซึ่งไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วเงินที่นำมาจัดกิจกรรมน้อยกว่าเงินที่เอาไปแจกฟรีด้วยซ้ำ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ท้ายนี้ อยากให้ถึงหูทีมเศรษฐกิจของภาครัฐ