ก่อนตายทั้งระบบ เรียกร้องรัฐบาล เยียวยาตรง 50,000 บาท ให้ทุกร้านอาหาร

ก่อนตายทั้งระบบ เรียกร้องรัฐบาล เยียวยาตรง 50,000 บาท ให้ทุกร้านอาหาร
ก่อนตายทั้งระบบ เรียกร้องรัฐบาล เยียวยาตรง 50,000 บาท ให้ทุกร้านอาหาร

ก่อนตายทั้งระบบ เรียกร้องรัฐบาล เยียวยาตรง 50,000 บาท ให้ทุกร้านอาหาร

เมื่อคืนวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา พรรคกล้า เปิดคลับ Idea I do ในคลับเฮ้าส์ ระดมสมองหาทางออกช่วยเหลือร้านอาหาร หัวข้อ ร้านอาหารกำลังจะตาย ควรช่วยยังไง โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน ตลอดจน เชฟร้านอาหารชื่อดัง ตัวแทนแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ Robinhood และเจ้าของร้านอาหาร ร้านสตรีตฟู้ด เข้าร่วมรับฟังนับพันคน

คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน แต่เท่านั้นไม่พอ ต้องมีข้อเสนอมาตรการเพื่อให้อยู่รอด แต่อย่างน้อยเที่ยวนี้พอที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่จะสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่ง คือ เดือนหน้า (มิถุนายน) จะมีวัคซีนตามที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนและจะฉีดครบภายในสิ้นปี ทั้งนี้ จากที่ดูจากหลายประเทศเมื่อประชาชนเขาได้รับวัคซีนแล้ว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และร้านค้าปลีกต่างๆ มีตัวเลขชัดเจนว่าฟื้นตัว

แต่อย่างไรก็ตาม กว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นคงต้องรอไตรมาส 4  ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือ ช่วงนี้ทำอะไรได้บ้าง และรัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอด เพราะอุตสาหกรรมร้านอาหาร ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก จากตัวเลขของ “วงใน” ระบุว่ามีถึง 230,000 ร้าน มีจำนวนชีวิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้นับล้านคน

ร้านอาหารกำลังจะตาย…ควรช่วยยังไง

จากนั้นช่วงแชร์ประสบการณ์ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ คุณสีหนาท ล่ำซำ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ Robinhood ซึ่งไม่มีการเรียกเก็บค่า GP ที่มองว่า ในช่วงสถานการณ์นี้ แพลตฟอร์มส่งอาหารไม่ควรเก็บ GP แต่ควรเอาส่วนนั้นเป็นส่วนลดให้กับลูกค้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์โดยตรง นอกจากนี้ ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทำให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าและสามารถเลือกได้

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ห้ามนั่งกินที่ร้าน ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ลดค่าเช่า จ่ายเงินเดือนพนักงาน

ขณะที่ คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้ง เพนกวินกินชาบู กล่าวว่า จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ ท่านพบปัญหาเดียวกันคือ ค่า GP ที่ตอนนี้เรียกเก็บอยู่ที่ 35% ของราคาสินค้าค่อนข้างสูงไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลดลงมาเหลือ 15-20% ยังพออยู่ได้ ตอนนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายแม้จะพอขายได้ แต่มันไม่มีกำไร การจัดการทางการตลาดต้องมีต้นทุน ถ้าคนทำไม่เป็นก็จะหายไป

คุณเตเต้-พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งร้านอาหาร เป็นลาว บอกว่า รัฐควรสนับสนุนของใช้วัสดุป้องกันความปลอดภัย เช่น หมวก หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ เพราะตัวเลขเริ่มสูงขึ้น อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังในการเรียกร้องให้ได้รับความช่วยเหลือ ในส่วนของฟู้ดดีลิเวอรี่พื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง ก็พยายามที่จะทำแต่บริบทเมืองไม่เอื้อ

ใช้งบเพียง 1.5 หมื่นล้าน 

สอดคล้องกับ เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เชฟชื่อดังแห่งร้าน le du (ฤดู) ที่บอกว่า ร้านอาหารอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหาประโยชน์จาก ฟู้ดดีลิเวอรี่ได้ และมันไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดของธุรกิจร้านอาหาร เวลานี้ คือ โค้งสุดท้ายของโรคระบาด แต่โค้งนี้อันตรายที่สุด และเชื่อว่าคนบาดเจ็บล้มตายเยอะมาก จากตัวเลขธุรกิจร้านอาหาร ก่อนปี 2563 มีถึงกว่า 300,000 ร้าน ปัจจุบันเหลือเพียง 200,000 กว่าร้าน และสุดท้ายหากไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐก็เชื่อว่าน้อยลงมาอีกมาก

“ธุรกิจของเรามีมูลค่าต่อจีดีพีของประเทศค่อนข้างเยอะ เราจ้างงานคนเป็นล้านคน เราเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ สิ่งที่รัฐจะช่วยให้เราพ้นโค้งสุดท้าย วิธีที่ง่ายสุด และทำได้เร็วที่สุดคือ แจกจ่ายเงินช่วยเหลือให้พวกเรา โดยไม่มีข้อแม้เหมือนโครงการอื่นๆ ที่ออกมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เพราะความเดือดร้อนครั้งนี้ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ รัฐต้องมองว่าฉุกเฉินมากเช่นเดียวกับที่ทั่วโลกเจอ ควรต้องช่วยแบบไม่แบ่งชนชั้น เริ่มต้นร้านละ 50,000 บาท ถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารมี 300,000 ราย ก็ใช้เงินเพียง 15,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินที่กู้มาช่วยเหลือประชาชน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 4 แสนล้านบาทถือว่าน้อยมาก เพราะเชื่อว่าหลุดจากมาตรการ 1 พฤษภาคม ไปอีก 14 วัน จะต้องมีการห้ามต่อ เพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เลวร้ายที่สุดอาจจะถึง 6 เดือนก็ได้” เชฟต้น กล่าว

ในขณะที่ เชฟตาม บ้านเทพา บอกว่า ตนได้ทำในทุกช่องทางที่จะผ่านวิกฤตไปแล้ว แต่รายได้ยังหายไป 60-70% การทำดีลิเวอรี่ก็ไม่ถนัดเพราะร้านอาหารไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อดีลิเวอรี่ เพราะใช้วัตถุดิบจากชุมชน จะโยนภาระต้นทุนไปให้กับพวกเขาก็ทำไม่ลงและสู้ไม่ไหว

ในตอนท้าย คุณกรณ์ กล่าวสรุปว่า ข้อเรียกร้องหลายประเด็นนับว่าน่าสนใจ ซี่งนับจากนี้ จะขอรวบรวมเป็นข้อเรียกร้องไปทางรัฐบาลว่า 1. รัฐบาลเยียวยาตรง 50,000 บาทให้ทุกร้านอาหาร (เป็นเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท) 2. รัฐบาลชดเชย 20% ของรายได้ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนกันยายน โดยมีการกำหนดเพดานที่เหมาะสม 3. รัฐบาลรับภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคมพนักงานทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4. รัฐบาลเจรจาปรับลดหรือชดเชยค่า GP delivery เพื่อให้ค่า GP ไม่สูงกว่า 15% (ปัจจุบัน 30-35%) 5. รัฐบาลลดค่านํ้าค่าไฟให้ผู้ประกอบการ 50% 6. รัฐบาลและท้องถิ่นงดเก็บภาษีป้าย/ภาษีที่ดินจากร้านอาหารจนถึงสิ้นปี และ 7. แบงก์ชาติ จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ทั้งหมดนี้ มีเงื่อนไขสำคัญข้อเดียว คือ ร้านอาหารต้องไม่ลดพนักงานและไม่ลดค่าจ้าง