ห้ามนั่งกินที่ร้าน ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ลดค่าเช่า จ่ายเงินเดือนพนักงาน

ห้ามนั่งกินที่ร้าน ต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้วย ทั้ง ลดค่าเช่า จ่ายเงินเดือนพนักงาน

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ระบุถึงมาตรการของรัฐบาล ห้ามนั่งกินที่ร้าน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันนี้   ( 1 พ.ค.64)  ว่า มีผลกระทบกับร้านอาหารในหลายจังหวัดอย่างแน่นอน เดิมทีร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมาตลอดปีกว่าอยู่แล้ว ตั้งแต่ล็อกดาวน์ปีที่แล้ว จนมาระบาดระลอก 2 และระลอก 3 ซึ่งหนักที่สุด

“รัฐบาลเมื่อสั่งไม่ให้ร้านอาหารเหล่านี้มีลูกค้านั่งทานที่ร้านก็พอเข้าใจได้ว่าเพื่อป้องกันการระบาด แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย เพราะร้านอาหารเหล่านี้ อยู่ในสภาพใกล้ปิดกิจการเต็มทีแล้ว ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือคงมีผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไม่น้อยแน่” คุณวรวุฒิ กล่าว

และว่า ขอเสนอ 5 มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1. ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกิน 15% อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน 2. ควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้สัก 50% ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหารเหล่านี้

3. งดการจัดเก็บภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลในการหยุดให้บริการ ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา 4. ผ่อนผันในเรื่องการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน และ 5. ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่นร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อย 50% และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

คุณวรวุฒิ กล่าวว่า มาตรการทั้ง 5 ข้อดังกล่าว น่าจะพอแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความเดือดร้อนอยู่หลายแสนรายไปได้ ไม่ให้ต้องปิดกิจการและอยู่บริการสังคมในช่วงโควิดได้ตลอดรอดฝั่ง การสั่งปิด สั่งไม่ให้บริการลูกค้า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ จะสร้างคำถามมากมายจากผู้ประกอบการว่าเขาจะอยู่รอดได้อย่างไรถ้าเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล