สภาดิจิทัลฯ ผนึกพันธมิตร นำเทคโนโลยีหนุนทีมแพทย์ ฝ่าวิกฤต นำร่อง 3 รพ.ต้นแบบ

สภาดิจิทัล ผนึกพันธมิตร นำเทคโนโลยีหนุนทีมแพทย์ ฝ่าวิกฤต นำร่อง 3 รพ.ต้นแบบ
สภาดิจิทัล ผนึกพันธมิตร นำเทคโนโลยีหนุนทีมแพทย์ ฝ่าวิกฤต นำร่อง 3 รพ.ต้นแบบ

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ แพทยสภาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกและพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล ประกาศความร่วมมือ นำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสนับสนุนทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกสาม นำร่อง 3 รพ.ต้นแบบ จุฬาฯ-กรมแพทย์ทหารอากาศ-ธรรมศาสตร์ สู่การเป็น “SMART FIELD HOSPITALS” 

วันที่ 30 เม.ย. 2564 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด โดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ แพทยสภาแห่งประเทศไทย และสมาชิกและพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมนับสนุนทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยเริ่มต้น 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

โดยเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสนับสนุนทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

1. อุปกรณ์อัจฉริยะ สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใช้

2. ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และระบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย (ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลการรักษา) 

3. ระบบนัดหมายและสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ได้แก่ การประชุมด้วยวีดิทัศน์ การประชุมด้วยเสียง การแชต และการขอความช่วยเหลือฉุกเฉินโดยผู้ป่วย

4. การลดความเครียดและให้ความรู้ผู้ป่วย ระหว่างอยู่ใน รพ.สนาม

5. ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมและ รพ.สนาม เช่น ระดับแสง อุณหภูมิ ระดับความชื้นของพื้นที่ และ รพ.สนาม เพื่อรายงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

6. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัย

พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาฯ ตัวแทนจากโรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนำระบบดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เพราะเป็นโรคที่มีการกระจายไปในประชากร ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องเข้ากักกันตัวเองในโรงพยาบาลสนาม หรือ ใน Hospitel ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ปัญหาสำคัญ คือบุคลากรทางการแพทย์มีการติดเชื้อจากคนไข้ ทำให้มีการกักตัว ส่งผลให้เสียกำลังพลทางการแพทย์ไป ส่วนคนที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้น่าจะเป็นกลไกหลักช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้  

โดยโรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์ ได้นำความรู้และงานวิจัยของคณะอาจารย์และนิสิต ทั้งระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกมาใช้ร่วมด้วย นำหุ่นยนต์นินจา หุ่นยนต์ปิ่นโต และหุ่นยนต์กระจก มาใช้ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยและแพทย์ไม่ต้องใกล้ชิดกัน 

พลอากาศโท ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ตัวแทนโรงพยาบาลสนามในเครือกรมแพทย์ทหารอากาศ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามทหารอากาศ เป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งเปิดใหม่​มาได้ 2 สัปดาห์ และยังมีขนาดเล็ก รองรับผู้ป่วยที่อยู่ในโซนด้านเหนือของกรุงเทพฯ คิดว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์คือโรงพยาบาลสนามที่มีเตียงมากที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่มีนาคม ปี 2563 ในระลอกสามที่มีการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายนได้เพิ่มจำนวนเตียงเป็น 494 เตียง

ถือเป็นโอกาสดีที่สภาดิจิทัลฯ แพทยสภาฯ และภาคเอกชน ให้ความสำคัญและสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยและแพทย์ ทำให้สามารถบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ