เอสเอ็มอี อาการโคม่า หากยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ ข้าวยากหมากแพง โจรชุกชุม

เอสเอ็มอี อาการโคม่า หากยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ ข้าวยากหมากแพง โจรชุกชุม

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เอสเอ็มอี อาการโคม่า  เสียงแห่งความเดือดร้อนจากทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชห่วย โอท็อป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะ กูรูด้านเอสเอ็มอี ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ  ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

คุณวรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง หากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม แม้เวลานี้ เอสเอ็มอีจะไปแฝงอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือ แต่เอสเอ็มอี ก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริง ได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตัง เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว และธนาคารเองก็เรียกให้เขาไปกู้เงินตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดเอ็นพีแอล นั่นคือปัญหาที่ผู้ที่กู้ไม่ใช่ผู้เดือดร้อนจริง

“ถึงเวลาแล้วที่จะมีสภาเอสเอ็มอี จริงจัง เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้วแต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับ มีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก ทั้งที่ควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว” คุณวรวุฒิ กล่าว

และว่า ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

กูรูเอสเอมอี ท่านเดิม กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ หรือราว 20 ล้านคน เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ยกตัวอย่าง ถ้าร้านก๋วยเตี๋ยวปิด กระทบเกษตรกรผู้ปลูกผัก โรงงานลูกชิ้น โรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว ชาวประมง พนักงาน รวมไปถึงระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

และเมื่อ คนตัวเล็กไป คนตัวใหญ่ก็อยู่ยาก และอาจลามไปถึงระบบสังคม โจรผู้ร้ายชุกชม ข้าวยากหมากแพง และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมหลายรัฐบาลถึงยอมใช้เงินอุ้มผู้ประกอบการรายย่อย อย่างที่ อังกฤษ ประกาศล็อกดาวน์ เอสเอ็มอีไม่มีปลดพนักงาน เพราะรัฐจ่ายเงินเดือนแทนให้ 80% ทำให้พวกเขาอยู่ได้ แต่บ้านเราไม่ใช่ เวลาที่รัฐบาลจะมาอุ้มแบบนั้น เพราะได้ใช้เงินไปมากมายแล้วสำหรับการเยียวยาในการแพร่ระบาดรอบแรก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน

เทคโนโลยี จุดเปลี่ยนสำคัญ

“ใครมาเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็ต้องเหนื่อย เพราะหากสถานการณ์วิกฤตกว่านี้ จะเอาเงินที่ไหนมาเยียวยา สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือ ประทังเพื่อให้อยู่ได้เท่านั้น ผมเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ที่ผ่านมารัฐมักจะมาสอนผลิต พัฒนาสินค้า แต่ไม่ช่วยหาตลาด ถึงเวลาก็ตายทั้งระบบ

แต่ถ้ามีสภาเอสเอ็มอี จะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซี่งผู้ประกอบการรายย่อยกระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เขาเป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง ผู้ประกอบการตัวเล็กซึ่งเขารู้จักดี จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ การจะช่วยเหลือคนเดือดร้อนตัวจริง มาตรการเยียวยาต้องไม่เหวี่ยงแห ต้องไม่โปรยเงินจากฟ้าผ่านโครงการต่างๆ แต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้” คุณวรวุฒิ กล่าว

เมื่อถามว่า การมีคนกลางเข้ามาจัดการจะทำให้เกิดการรั่วไหล คุณวรวุฒิ กล่าวว่า โอกาสการรั่วไหลมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันก็รั่วไหลอยู่ในกระเป๋าของชาวบ้าน เหมือนระบบเงินผัน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ในอนาคตมันก็จะมีระบบตรวจสอบที่รัดกุมขึ้นไปเรื่อยๆ ประเทศจีนสมัยก่อน เอสเอ็มอีเขาแย่กว่าเรา เพราะมีประชากรมาก แต่หลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย ด้วยการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอไอคำนวณ อนุมัติได้ในไม่กี่นาที มีระบบตรวจสอบที่รัดกุม ทำให้เกิดหนี้เสียน้อยมาก นี่คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไทยยังไม่ได้ทำ

“ทุกวันนี้คนตัวเล็กบ้านเรากู้นอกระบบ ดอกร้อยละ 20 ต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวัน เงินต้นไม่ขยับ หนี้สินล้นพ้นตัว ผมเคยเสนอให้รัฐบาลทำแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของไทยเอง แต่ไม่มีการดำเนินการอาจจะไม่เข้าใจ สุดท้ายทุกวันนี้เราทำธุรกรรมและซื้อขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มของต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นของประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง” คุณวรวุฒิ บอก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤต มักมีภาพความร่วมมือที่งดงามเสมอ ซึ่งคุณวรวุฒิ บอกว่า อยากให้รัฐบาล ยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดส ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวัน นับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีด คือ เดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี แต่เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดี เชื่อว่าเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน