ความเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ย.ทุกรายการลดต่อเดือนที่2 หวังศก.ฟื้นไตรมาส2ปี60

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2559 ปรับลดลงทุกรายการ และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ 72.3 จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 73.1 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 50.8 จาก 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 81.1 จาก 81.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงอยู่ที่ 61.2 จาก 62.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 66.9 จาก 67.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลง อยู่ที่ 88.8 จาก 89.6

ขณะที่ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันลดลง อยู่ที่ 75.7 จากเดือนตุลาคม อยู่ที่ 77.8 ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน อยู่ที่ 71.3 ลดจาก 73.3 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน อยู่ที่ 70.2 ลดจาก 72.9 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน อยู่ที่ 95.1 ลดจาก 97.8

“ ความเชื่อมั่นทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพื่อทั้งธุรกิจและประชาชนมองเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่เป็นตามคาด และคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวเหลือ 3.2% จากเดิม 3.3% ส่วนหนึ่งจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ และการส่งออกปีนี้ไม่ขยายตัว รวมถึงความกังวลจากน้ำท่วมภาคใต้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าน้ำท่วมใต้จะสร้างความเสียหาย 5,000-10,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐควรกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนตามแผนงาน ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า คาดหวังว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมนี้ จะดีขึ้น ผลจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ ทั้งมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ทำให้มีเงินหมุน 10,000-20,000 ล้านบาท มาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว คาดมีเงินเพิ่มจากปกติอีก 5,000-10,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีจาการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่ หรือ ช้อปช่วยชาติ น่าจะเพิ่มเงินหมุนในระบบ 25,000-35,000 ล้านบาทหากลดหย่อนภาษีให้ประชาชน 30,000 บาท/ราย แต่หากกำหนดวงเงินใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเหลือ 15,000 บาท/ราย จะมีเงินหมุนในระบบ 10,000 -20,000 ล้านบาท โดยศูนย์พยากรณ์ฯมองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.2% และส่งออกติดลบ 1% ถึง 0%

ทั้งนี้  ธุรกิจและประชาชนมองเศรษฐกิจปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปีหน้า และฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งปีหลังปีหน้า จากมาตรการอัดฉีดงบประมาณแสนล้านบาทลงสู่ 18 กลุ่มจังหวัดที่จะเริ่มเห็นผล และรัฐบอกว่าจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องติดตามการส่งออกในปีหน้าและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่ชัดเจนหลายอย่าง ทั้งนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ความไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป(อียู) การเจรจาสหราชอาณาจักรออกจากอียู (เบร็กซิท) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอลงทุนออกไป 3-6 เดือน จนกว่าจะชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจไม่สดใดและคึกคัก อาจกระทบต่อกำลังซื้อครึ่งแรกปีหน้า ดังนั้น รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ตามแผน ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำปีหน้าที่จะมีเม็ดเงินอีก 20,000-30,000 ล้านบาท นั้นยังไม่เพียงพอ เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจโต 3-4% และส่งออกขยายตัว 0% ถึง 2%

 

ที่มา มติชนออนไลน์