กัญชาไฮโดรโปนิกส์ ในโรงเรือนระบบปิด พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต

กัญชาไฮโดรโปนิกส์ ในโรงเรือนระบบปิด พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต
กัญชาไฮโดรโปนิกส์ ในโรงเรือนระบบปิด พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต

กัญชาไฮโดรโปนิกส์ ในโรงเรือนระบบปิด พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กัญชา จัดเป็นสมุนไพรไทยที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างยาวนาน ขณะที่ประเทศไทยจัดกัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่มีข้อยกเว้นตามกฎหมาย คือการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่กฎกระทรวงกำหนด อันได้แก่ ปลูกเพื่อการวิจัย และมีใบอนุญาตรับรองถูกต้องตามกฎหมาย โดยคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา เพื่อศึกษาวิจัยทางการแพทย์

ปัจจุบัน กัญชา ถูกนำมาศึกษาและวิจัยทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน ว่า สารแคนนาบินอยด์ (THC, CBD) ของกัญชาสามารถบรรเทาอาการปวดเรื้อรังและโรคปลอกประสาทอักเสบ ซึ่งการเพาะปลูกกลางแจ้งจากเมล็ด ทำให้เกิดพืชที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่ไม่เหมือนกัน และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ไม่แน่นอน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตที่ไม่สามารถควบคุมได้

การปลูกกัญชาในดิน จึงส่งผลให้ต้นกัญชา มีแนวโน้มจะเกิดการถ่ายละอองเรณูข้ามดอก ซึ่งจะลดปริมาณและคุณภาพของสารแคนนาบินอยด์ รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงในการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รา แบคทีเรีย และจุลินทรีย์ ในกลุ่มฟังไจที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งการใช้ดินในการปลูก จะทำให้ต้นกัญชาแต่ละต้นดูดซึมปริมาณปุ๋ยและแร่ธาตุไม่เท่ากัน ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตน้อยและมีคุณภาพผลผลิตที่ไม่แน่นอน

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.ดร.บัญญัติ กล่าวต่อว่า แต่สำหรับ การปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิดสมบูรณ์ ด้วยระบบน้ำแบบสปาราก (Cannabis cultivation in glasshouse with root spa watering system) นั้น จะทำให้ต้นกัญชา ได้รับปุ๋ยและแร่ธาตุในปริมาณการดูดซึมที่เท่ากัน เพราะมีการใช้สารละลายธาตุอาหารพืช และพืชสามารถนำไปใช้ได้ทันทีและมีการปรับค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity : EC) รวมถึง pH ให้อยู่ระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่ตลอดเวลา

ระบบรากของกัญชาที่ผ่านการปลูกด้วยระบบสปารากร่วมกับสูตรสารละลายธาตุอาหารกัญชา

และยังทำให้กัญชา มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่สม่ำเสมอปลอดสารพิษตกค้าง ซึ่งเหมาะสมที่จะนำไปใช้ทางอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ อีกทั้งสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตได้ ทั้งนี้ นักวิจัยของสถานีวิจัยและทดลองกัญชาทางการแพทย์ คณะนวัตกรรมเกษตร ได้ศึกษาและพัฒนาสูตรสารละลายธาตุอาหารพืชไฮโดรโปนิกส์ของกัญชาในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต โดยทางทีมวิจัย พัฒนาสูตรสารละลายธาตุอาหารกัญชาไว้ทั้งหมด 4 สูตรสำหรับทุกช่วงการเจริญเติบโตของต้นกัญชา ได้แก่

สูตร S1 สัปดาห์ที่ 1 ถึง สัปดาห์ที่ 4 คือระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ

สูตร S2 สัปดาห์ที่ 5 ถึง สัปดาห์ที่ 6 คือระยะก่อนออกดอก

สูตร S3 สัปดาห์ที่ 7 ถึง สัปดาห์ที่ 12 คือระยะทำดอก

สูตร S4 สัปดาห์ที่ 13 ถึง สัปดาห์ที่ 15 คือระยะก่อนการเก็บเกี่ยว

คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรสารละลายธาตุอาหารพืชไฮโดรโปนิกส์ของกัญชาร่วมกับระบบปลูกกัญชาด้วยระบบน้ำแบบสปาราก ทำให้ได้กัญชาทางการแพทย์ คือ ดอกกัญชามีคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่สม่ำเสมอ เพื่อส่งต่อไปยังวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ เพื่อผลิตเป็นยาที่ดี

ทั้งนี้ นักวิจัยยังเตรียมขอใบอนุญาตสิทธิบัตร สูตรสารละลายธาตุอาหารกัญชาไฮโดรโปนิกส์ และกำลังจะพัฒนาเป็นสูตรสารละลายธาตุอาหารกัญชาร่วมกับระบบปลูกกัญชาในโรงเรือนกระจกด้วยระบบน้ำแบบสปาราก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา เพื่อให้ได้รับรองมาตรฐานการปลูกกัญชาทางการแพทย์ต่อไป