สำหรับคนที่มีความเสี่ยง กักตัว 14 วันอย่างไร ให้ปลอดภัยคนในบ้าน

จากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ โดยพบว่า มีผู้ติดเชื้อแตะหลักพันคนต่อวัน หนึ่งในวิธีสำคัญที่จะทำให้เราห่างไกลจากโควิด-19 ได้คือการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อยครั้ง รวมถึงบันทึกไทม์ไลน์การเดินทาง แต่สำหรับคนที่มีความเสี่ยง ต้องกักตัว 14 วันที่บ้านหรือที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดปลอดภัยปลอดเชื้อ โดยมีวิธีการดังนี้ 

1. การแยกห้องและของใช้

– อยู่ในห้องแยกจากครอบครัว ด้วยการแยกห้องนอน

– หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้ใช้แผ่นกั้นห้อง แบบพลาสติกแบ่งสัดส่วน

– เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

– แยกของใช้ส่วนตัว มีถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะ

2. การแยกขยะ ให้แยกขยะออกเป็น 2 ประเภท

– ขยะทั่วไป

– ขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวม และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ สำหรับการทิ้งให้สวมถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น ก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

3. ข้อปฏิบัติสำคัญ

– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที

– สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากป้องกัน

– เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน

4. การรับประทานอาหาร

– ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ให้ตักแบ่งมารับประทาน

– หากให้ผู้อื่นจัดอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง

5. การทำความสะอาด

– เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว

ให้แยกทำความสะอาด ด้วยผงซักฝอกร่วมกับน้ำร้อน

– ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90 เปอร์เซ็นต์

– ห้องสุขา สุขภัณฑ์ พื้นบ้าน ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่าฉีดพ่น

6. การใช้ห้องสุขา

– แยกใช้ห้องสุขา หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที

– กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ที่มา Social Marketing Thaihealth by สสส.

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ.2564