สร้างยานฯไปดวงจันทร์ มิชชั่นล่าสุด อาจารย์ปอม ผู้ไม่เคยหยุดแค่ความฝัน

สร้างยานฯ ไปดวงจันทร์ มิชชั่นล่าสุด อาจารย์ปอม ผู้ไม่เคยหยุดแค่ความฝัน

จากความฝันในวัยเยาว์ สู่การมุ่งมั่นเรียนรู้ จนเป็นผู้ที่สามารถสร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกของไทย ส่งไปโลดแล่นอยู่ในอวกาศในปี 2018 และกำลังจะสร้างตำนานด้วยการสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ในอีก  7 ปีข้างหน้า ใครจะคิดว่าเด็กบ้านนอก เรียนโรงเรียนเล้าไก่ จะสามารถทำได้

วันนี้เรามาพูดคุยกับ มิสเตอร์ดาวเทียม ที่จะเปิดโลกทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ต่อยอดความฝันสู่ความเป็นจริง มุมมองอันเฉียบคมกับประสบการณ์ตรงกว่า 20 ปี  ที่เจ้าตัวบอกว่าในบางจังหวะชีวิต เลือดตาแทบกระเด็น ต้องต่อสู้ทั้งคำสบประมาท ดูแคลน และระบบที่ไม่ให้โอกาส แต่ไม่เคยย่อท้อ ต่อสู้จนมีวันนี้

อาจารย์ปอม-ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และในหมวกอีกใบคือ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) เด็กต่างจังหวัดที่เกิดและเติบโตจากอุตรดิตถ์ ก่อนจะย้ายมาอาศัยอยู่กับลุง ที่ศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี

บทบาท อาจารย์ปอม

วัยเด็กของเขา ไม่สนใจเรียน วันๆ เอาแต่นั่งรื้อวิทยุ โทรทัศน์ จนต้องส่งตัวมาดัดนิสัยในค่ายทหาร และศึกษาต่อระดับมัธยมต้น ที่โรงเรียนพระนารายณ์ สมัยเพิ่งดัดแปลงเล้าไก่เป็นห้องเรียน เจ้าตัวและเพื่อนก็นั่งเรียนกับพื้นไม้กระดานมีเพียงหลังคาใบจาก คุ้มแดดฝน

อาจารย์ปอม เล่าถึงภาพจำตั้งแต่วัยเด็กที่เขาเห็น จรวดทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า มีกลุ่มควันมหึมาพวยพุ่งออกมาจากฐานปล่อย มันทำให้เกิดคำถามในหัว มันคืออะไร จรวดนั้นถูกส่งไปที่ไหน และมันไปทำอะไร  ทำไมดูล้ำ ดูเจ๋งมาก และ จุดพีกสุดในชีวิตคือ วันที่ 18 ธันวาคม 2536 มีการถ่ายทอดสดการส่งดาวเทียมไทยคม ดวงแรกของไทย จากฐานส่งประเทศฝรั่งเศส วินาทีนั้นเขาบอกกับตัวเอง อยากสร้างดาวเทียม และมันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาไม่เคยหยุดฝันอีกเลย

เวลาใครถาม โตขึ้นอยากทำอะไร จะตอบว่าอยากสร้างดาวเทียม แน่นอน ทุกคนหัวเราะและไล่เขาไปซ่อมวิทยุ ทีวี ที่รื้อและไม่เคยซ่อมมันได้แม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงครูวิชัย ครูสอนวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้กำลังใจและพูดว่ายุคนี้ต้องคิดแบบนี้

แม้จะพยายามบอกกับใครเสมอว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม 3 แล้วเขาได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอันดับ 1 ของเมืองไทย คือ เตรียมอุดมศึกษา และยังคิดเรื่องการสร้างดาวเทียมอยู่ในหัวเสมอ แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร จนในที่สุดโอกาสก็มาถึงเมื่อเพื่อนชวนไปสอบชิงทุนไปต่างประเทศ

อยากสร้างดาวเทียม ไม่มีใครอ่านหนังสือตาย

เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วเนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการสมัครสอบ อาจารย์ปอมสมัครไปตามเพื่อนเท่านั้น และไม่คิดว่าจะสอบได้ จนกระทั่งผลสอบออกมาว่าเขาติด 1 ใน 3 ของประเทศ โดยคะแนนมาเป็นที่ 1 มีสิทธิไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติ นักเรียนจะสามารถเลือกไปเรียนได้ 3 ประเทศ คือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น แต่ในปีที่เขาสอบ มีเพียงประเทศเดียว คือ ญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องไปเรียนที่นั่น อย่างไม่มีทางเลือก

อาจารย์ปอม เข้าเรียนภาษาญี่ปุ่นถึง 2 ปี เนื่องจากการเรียนใช้ภาษาญี่ปุ่น และเพื่อเป้าหมายที่จะค้นคว้าหาหนทางว่าการจะสร้างยานอวกาศนั้นต้องไปเรียนที่ไหน สมัยปี 1996 (2539) ถ้าจะไปเรียนก็มีแค่ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Tech) ที่สอนการสร้างยานอวกาศ  เลยตั้งเป้าว่าต้องเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ และต้องเข้าสาขาที่ยากที่สุดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมการบินอวกาศ

ออกสื่อญี่ปุ่น

เพราะความอยากสร้างดาวเทียมไม่เคยออกจากหัว ด้วยความที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่อัจฉริยะ อยากได้คะแนนดีก็ต้องพยายาม ไม่มีอะไรที่ได้มาแบบง่ายๆ หากไม่ลงมือทำ หลายครั้งที่ท้อก็คิดว่าไม่มีใครอ่านหนังสือจนตาย

จากนั้นก็เดินทางตามฝัน เริ่มจากการเข้าเรียนที่ไฮสคูลที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก  ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ถ้าไม่ได้คะแนนระดับท็อป จะไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ หมายถึงความฝันที่จะสร้างดาวเทียมก็จบไปด้วย อาจารย์ปอม บอก ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการสอบต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ยิ่งวิชาที่เราไม่รู้มาก่อน เช่น วรรณคดีญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

พอถึงวันสอบในห้องมี 35 คน เขาได้ที่ 32 ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป คงไม่สามารถเข้าเรียนที่อยากจะเข้าได้แน่นอน ยิ่งในสาขาที่ยากที่สุดของวิศวกรรมศาสตร์ที่มีคนแข่งขันกันถึง 3,000 คน และ 50 คนแรกที่คะแนนสูงสุดจะสามารถเข้าเรียนสาขา วิศวกรรมการบินอวกาศได้ จากนั้นต้องแข่งกันอีก มี 5 คนเท่านั้นที่จะเข้าเรียนในห้องแล็บที่สร้างยานอวกาศได้

จึงต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก ไม่มีเคยมีครั้งไหนได้คะแนนดีเพราะรู้สึกว่าตัวเองฉลาด ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก คนญี่ปุ่นอ่าน 1 รอบ เราต้องอ่าน 10 รอบ จำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร รู้เลยว่าเรื่องนี้ อยู่หน้าไหนบรรทัดที่เท่าไหร่ บอกกับตัวเองว่า ถ้าทำคะแนนไม่ดี ชนะคนญี่ปุ่นไม่ได้จะเผาตำราทิ้งแล้วเลือกที่จะไม่เรียนอีกต่อไป ผลปรากฏว่าได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้นในวิชานั้น

และเพื่อเป็นการเตือนใจ ที่โต๊ะเรียนหนังสือผม ติดคำพูดที่ตัวเองเขียนไว้ว่า

“ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับประเทศไทยไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยให้ได้”

อีก 7 ปี ยานฯ ไทยได้ไปดวงจันทร์

แต่แล้วปัญหาก็มาอีก อาจารย์ปอม บอกว่า ที่พยายามทุกอย่างเพราะเป้าหมายเดียวซึ่งธรรมดามาก คือ “อยากสร้างดาวเทียมเป็น อยากสร้างยานอวกาศของตัวเองให้เป็น” แต่พอเรียนจบไฮสคูล ตอนจะเอนทรานซ์ตอนปี 2001 (2544) รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้เรียนวิศวกรรมอวกาศ เพราะไม่มีอยู่ในรายการที่รัฐบาลกำหนดว่าให้เรียนได้ เลยเขียนหนังสือถึงเลขาธิการ กพ. ในขณะนั้น ขออนุญาตเรียนสาขานี้เนื่องจากมันมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก สุดท้ายได้รับอนุญาต เป็นคนแรกของประเทศไทย

ในที่สุด อาจารย์ปอม ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโตเกียวใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินอวกาศ และได้เรียนในห้องแล็บที่สร้างยานอวกาศ  ได้เป็นผลสำเร็จ ห้องแล็บนี้เปิดสอนมาร้อยกว่าปีแล้ว เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปเรียน

จากซ้าย ดร.พีรพงศ์. ต่อฑีฆะ – Project Manager ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-Pathfinder, ศ.พิเศษ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ดร.พงศธร สายสุจริต – Project Manager ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1

มาถึงวันนี้ ถามว่าความฝันสูงสุดของชีวิตคืออะไร อาจารย์ปอม บอก  ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากตัวเองจะฝันทีละเฟส ตอนนี้เป้าหมาย คือ อยากสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ให้ได้ จากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) รับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1

“ผมมีหน้าที่ ทำอย่างไรก็ได้ สร้างดาวเทียมนี้ให้สำเร็จ ส่งไปสู่อวกาศ และปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง  หากดาวเทียม TSC-1 สำเร็จ การต่อยอดไปสู่ดาวเทียม TSC-2 ที่จะไปโคจรรอบดวงจันทร์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป หากไม่มีอุปสรรค  ระหว่างทาง ภายใน 7 ปี ยานอวกาศสัญชาติไทยที่จะไปดวงจันทร์เกิดได้แน่” อาจารย์ปอม บอกมาอย่างนั้น