เปิดสอน กัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับอนุญาต แห่งแรกของไทย

เปิดสอน กัญชาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับอนุญาต แห่งแรกของไทย

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร กล่าวว่า ภายหลังจากความสำเร็จของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต ในการวิจัยคุณสมบัติทางยาของกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการรักษา นำมาสู่การได้รับใบอนุญาตให้เป็นสถานที่ผลิต (ปลูก) กัญชาทางการแพทย์ และเปิดทำการสอนวิชากัญชาศาสตร์ ของคณะนวัตกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่มีการเรียนการสอนวิชากัญชาศาสตร์ ไว้ในหลักสูตรปริญญาตรี

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ทางด้านกัญชาทางการแพทย์ โดยเฉพาะสายพันธุ์กัญชาที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยหรือประเทศใกล้เคียง ร่วมกับการศึกษารูปแบบการจัดการด้านการปลูกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุปลูก อุณหภูมิ ปริมาณการได้รับแสง การจัดการน้ำ และการจัดการปริมาณธาตุอาหาร เป็นต้น

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ

เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดต่อการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางยา โดยเน้นกระบวนการผลิต (ปลูก) กัญชา ที่มีความปลอดภัยเป็นสำคัญ ปราศจากโลหะหนัก สารเคมีการเกษตร  หรือสารตกค้างอื่นใด ร่วมกับองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมเกษตรที่นำมาจัดการประยุกต์ใช้

สำหรับพื้นที่การปลูกกัญชา ของคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต นั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง การปลูกกัญชาในเรือนกระจก ด้วยระบบน้ำแบบสปาราก (Cannabis cultivation in glasshouse with root spa watering system) การปลูกกัญชาโดยการให้น้ำ อากาศ และปุ๋ยเฉพาะบริเวณราก ที่เน้นการจัดการให้น้ำ อากาศและปุ๋ยเป็นจังหวะโดยอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการออกแบบและติดตั้งระบบโดยทีมงานของคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

ต้นกัญชา

สอง การปลูกกัญชาอินทรีย์ในโรงเรือนด้วยระบบน้ำหยด (Organic cannabis cultivation in greenhouse with drip watering system) การปลูกกัญชาโดยใช้วัสดุปลูกและการปลูกตามรูปแบบการเกษตรทั่วไป  แต่เน้นวิธีการจัดการในรูปแบบเกษตรอินทรีย์  ที่งดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช  เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาที่บริสุทธิ์ และปลอดภัยจากปริมาณสารเคมีสะสมในผลิตภัณฑ์ โรงเรือนขนาด 64 ตารางเมตร

สาม ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกัญชา (Cannabis tissue culture laboratory)  ห้องปฏิบัติการสำหรับการศึกษาการขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มจำนวนต้นกัญชาทางการแพทย์ที่ปราศจากโรคและแมลง การเก็บรักษาสายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ และการคัดเลือกเพื่อพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาที่มีคุณสมบัติทางยาสำคัญ ในรูปแบบการเพาะเลี้ยงเซลล์หรือต้นอ่อนภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ

โรงเรือนปลูกกัญชา

ทั้งนี้ โรงเรือนดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ในปี พ.ศ. 2562 สามารถผลิตดอกกัญชาสดและใบกัญชา ส่งให้แก่ศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 4 ครั้ง ดอกครั้งละ 10 กิโลกรัม และใบครั้งละ 20 กิโลกรัม ซึ่งสายพันธุ์กัญชา ที่คณะนวัตกรรมเกษตรพัฒนาขึ้น สามารถผลิตสาร TCH และ CBD ให้อยู่ในระดับ 15-20% ตามมาตรฐานกัญชาทั่วโลก และมีการพัฒนาสูตรปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ เป็นของคณะเอง อยู่ระหว่างการขอจดอนุสิทธิบัตร

นอกจากนี้ คณะนวัตกรรมเกษตร ยังได้ขอใบอนุญาตขยายพื้นที่ปลูกกัญชาเพิ่มขนาด 3,600 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่โรงเรือน 2 โรงเรือน 2,000 ตารางเมตร และพื้นที่ปลูกแบบ Out door 1,600 ตารางเมตร ด้วย