ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงลำบากสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงลำบากสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
cr.www.freepik.com

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงลำบากสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในด้านรายได้หรือยอดขายธุรกิจหลักต่างๆ ของไทยในปี 2564 นั้น ในบางธุรกิจแม้จะฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2563 ตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ยอดขายค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ยอดขายรถยนต์ การใช้จ่ายด้านโรงแรมที่พักและบริการร้านอาหาร ตามความต้องการของผู้บริโภค แต่การฟื้นตัวยังเป็นอัตราที่น้อย ขนาดหรือระดับก็จะยังไม่กลับไปเท่ากับ ณ ปี 2562 เพราะกำลังซื้อของชนชั้นกลางลงล่างยังเปราะบางอยู่มากจากความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงลำบากสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงลำบากสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

นอกจากนี้ ในบางธุรกิจยังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากจากยอดขายที่อาจลดลงไปอีกในปี 2564 ได้แก่ ธุรกรรมการโอนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งรายได้การท่องเที่ยว ที่การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่มากแม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นก็ตาม นั่นหมายความว่า เส้นทางการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจยังเกิดขึ้นแบบไม่ทั่วถึง

ไม่เพียงโจทย์ด้านกำลังซื้อที่ฉุดยอดขาย การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและวิถีการใช้ชีวิตไปสู่ภาวะปกติใหม่ ที่รวดเร็วและซับซ้อนขึ้น ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจที่จำเป็นจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน และหากมองต่อไปในช่วงข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ด้านต้นทุนที่ไต่ระดับขึ้น อาจจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมการรับมือเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากต้นทุนการดำเนินการด้านความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด ที่เห็นชัดก็คือ

1. ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยในปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอาจอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่า 25% เทียบกับเฉลี่ยปี 2563 ที่ 42.2 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศขยับขึ้นประมาณ 9-10% และมีผลให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับขึ้นอีกราว 0.5% ขณะที่ธุรกิจประมง ขนส่ง ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ

2. ต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรระยะยาวที่เร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ตามความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 12 มีนาคม 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย 10 ปี ปรับขึ้นแล้ว 68 basis points ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้น 71 basis points ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี

ดังนั้น ธุรกิจที่มีความจำเป็นจะต้องระดมทุนในช่วงข้างหน้า ทั้งเพื่อการจัดการหนี้ที่ครบกำหนดและการจัดเตรียมสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจ คงจะต้องเผชิญสถานการณ์ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นแปรผันตามอันดับความน่าเชื่อถือหรือสถานะด้านเครดิตของแต่ละบริษัท ซึ่งจากหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปี 2564 กว่า 7 แสนล้านบาทนั้น หลักๆ แล้วจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาหาร พลังงาน ICT รวมกันมากกว่า 80%

กล่าวโดยสรุป ปี 2564 นี้ จึงนับเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจคงจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งด้านรายได้และต้นทุนอยู่อีกไม่น้อยเลย