“มหกรรมหนังสือของพ่อ”คึกคัก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ธันวาคม ที่ เอ็มซีซีฮอล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ในงานเทศกาล “หนังสือของพ่อ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์มติชน เดอะมอลล์ กรุ๊ป เอ็นซีซีอิมเมจ และสำนักพิมพ์ชั้นนำรวม 40 แห่ง ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานนั้น มีประชาชนมาเดินเลือกชมหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตามพื้นที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองสมัยในยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งหนังสือหลายเล่มเป็นหนังสือหายาก นอกจากนี้ ภายในงาน สำนักพิมพ์มติชน ยังได้จัดกิจกรรมแจกพระบรมสาทิตลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน ได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ทั้งนี้ในงานนี้ ยังได้จัดเสวนา เรื่อง “ฉันรักในหลวง” โดยนางริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ซึ่งนางริสรวล กล่าวว่า เป็นสำนักพิมพ์เกี่ยวกับหนังสือเด็ก ซึ่งทางสำนักพิมพ์อยากให้เด็กๆ ได้รู้จักพระบาทสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางสำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์หนังสือตรงกับวัยของเด็กๆ อาทิ ชุดหนังสือเรื่อง กราบพระบาท ซึ่งจะมีทั้งหมด 12 เล่ม ภายในเล่มจะน้อมนำคำพ่อสอน และค่านิยม 12 ประการ ผ่านตัวการ์ตูนน่ารักๆ เป็นผู้เดินเรื่องราวให้เด็กๆ ได้จินตนาการตาม

“เนื้อหาหนังสือชุดเรื่องนี้ จะเน้นไปที่การสอนให้เคารพพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี ซึ่งสาเหตุที่เน้นการนำเสนอผ่านภาพ เพราะต้องการให้เด็กน้อย ได้รู้จักพระเจ้าอยู่หัว ตามวัยของลูกหลานสามารถจะรอบรู้ได้ ส่วนเนื้อหาจะเป็นคำคล้องจอง ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้มีโอกาสรู้จักในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังได้เรียนรู้ภาษา คำคล้องจองต่างๆ เหมาะกับเด็กชั้นอนุบาล ที่กำลังเรียนรู้”นางริสรวลกล่าว

นางริสรวล กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ยังได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ในหลวงของเรา เหมาะกับเด็กที่อ่านหนังสือเองได้แล้ว โดยหยิบยก 5 โครงการพระราชดำริ มานำเสนอ ประกอบด้วย โครงการฝนหลวง ทำไมพระองค์ท่านถึงทำโครงการฝนหลวง พระองค์ท่านมีแนวทางทรงงานอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีโครงการหลวง โครงการไบโอดีเซล โครงการแก้มลิง และโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็น 5 โครงการที่ถูกเลือกตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ เราต้องค้นคว้าจาก 3,000-4,000 โครงการ แล้วก็ต้องเลือกเรื่องที่เหมาะสม และคิดว่าเด็กๆ น่าจะสนใจ โดยในหนังสือเล่มนี้ ภาพถือว่าสำคัญมาก เพราะหากภาพไม่สื่อความหมาย เด็กก็อาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้น ทางสำนักพิมพ์ก็ต้องใช้เวลากลั่นกรองพอสมควร กว่าจะตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

ส่วนเล่มที่สาม ชื่อหนังสือ ฉันรักในหลวง จะนำเทคโนโลยีเออาร์ ซึ่งจะมีบาร์โค้ด จากภาพที่ดูเหมือนภาพปกติ แต่เมื่อนำโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไปโหลดแอพพลิเคชั่น(ฉันรักในหลวง) แล้วนำส่องจากหน้าในหนังสือ เราจะเห็นภาพเหล่านั้นเป็นภาพสามมิติ และทุกหน้าจะมีเพลงพระราชนิพนธ์ประกอบด้วย อาทิ เรื่องราวความรักของในหลวง อยู่ในพระเมตตาของพระองค์ ยามใดที่พสกนิกรของพระองค์เดือดร้อน จะมีถุงพระราชทานไปถึงบ้านของพระองค์ เป็นต้น โดยรวมของหนังสือเล่มนี้ จะเห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ในงานเสวนา หนังสือ “ฟิล์มกระจกและจดหมายเหตุ” ภายในงานมหกรรมหนังสือของพ่อ นั้นนางสาววิรัลยา เชี่ยวสุขตระกูล นักจดหมายเหตุชำนาญการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และนายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้เล่าที่มาที่ไปถึงภาพจากฟิล์มกระจกที่กรมศิลปากรเก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-7 ซึ่งรวมกันแล้วมีถึง 4 หมื่นภาพ ภาพจากฟิล์มกระจกหลายๆ ภาพ ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เป็นเหตุการณ์อะไร เนื่องจากอาจไม่มีบุคคลสำคัญอยู่ในภาพ ทำให้ยากต่อการคาดเดา
นายดิษพงศ์ กล่าวว่า สำหรับหนังสือ ฟิล์มกระจกและจดหมายเหตุ เป็นหนังสือที่รวบรวมภาพสำคัญๆ ผ่านการคัดเลือกแบบระดมสมองกันอย่างมากจากคณะกรรมการให้เหลือเพียง 1 พันภาพ จากทั้งหมดที่เรามีราว 4 หมื่นภาพ เพราะโจทย์ที่เราได้รับ คือ ต้องการเผยแพร่ภาพจากฟิล์มกระจก 1 พันภาพ แบ่งเป็น 9 หมวด อาทิ หมวดเสด็จประพาส หมวดส่วนพระองค์ ของพระบรมมหากษัตริย์ที่รัชกาลที่ผ่านมา ซึ่งเราพยายามเอาทุกภาพมาเผยแพร่ แม้บางภาพเราจะไม่สามารถบรรยายภาพนั้นๆ ได้ว่า เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร แต่ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนทุกคนได้เห็น เผื่อจะมีประชาชนบางรายอาจจะสามารถอธิบายภาพนั้นๆ ได้ เป็นการเปิดเรื่องราวในอดีต สู่คนยุคใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยกันขยายฐานความรู้และร่วมบันทึกประศาสตร์ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม หมวดพระราชพิธีและพิธี ซึ่งถือเป็น 1 ใน 9 หมวดที่หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ จะถูกนำมาปรับใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชด้วย

“ความตั้งใจ อยากพิมพ์เผยแพร่ทั้ง 4 หมื่นภาพ ซึ่งหลังจากนี้ จะทยอยพิมพ์ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าหากกระจกภาพหล่นแตก ภาพเหล่านั้นก็จะหายไปเลย โดยภาพทั้ง 4 หมื่นภาพ จะมีตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 โดยภาพจะมีเยอะมากๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เช่น ภาพพิธีสมโภชน์ช้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พอเราได้สแกนตามวิธีการรักษาของฟิล์มกระจก ภาพก็ค่อนข้างชัดเจนมาก ทั้งนี้ ภาพส่วนใหญ่ที่ได้มา จะเป็นภาพสมบัติส่วนพระองค์ ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงสานุวงศ์ เพราะกล้องถ่ายโดยการใช้ฟิล์มกระจก ถือว่าแพง เป็นเทคโนโลยีจากตะวันตก สมัยก่อนถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็คงเข้าถึงยากมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพฟิล์มกระจกที่มีกว่า 4 หมื่นภาพ ถือว่าเยอะมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่มีเพียงไม่กี่ภาพ อย่างมาเลเซียมีไม่กี่ภาพ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ถือเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่น่าเก็บไว้”นายดิษพงศ์กล่าว

 

 

ที่มา มติชน