ดับเครื่องชน! บีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดับเครื่องชน! บีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม
ดับเครื่องชน! บีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดับเครื่องชน! บีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 คุณสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 บริษัท ได้นำส่งจดหมาย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

เนื่องมาจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกฯ ทำให้ บริษัทจัดทำหนังสือสอบถาม และขอความเป็นธรรมของโครงการฯ จำนวน 5 ฉบับ แต่ก็มิได้รับการชี้แจงในการดำเนินโครงการ แต่อย่างใด

คุณสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัทได้ฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำทางปกครอง และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่เห็นชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ

ศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ทาง รฟม. มีหนังสือ ถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยแจ้งว่า คดีปกครองดังกล่าว อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามที่กำหนดในเอกสาร ส่วนการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563  และกำหนดเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ตามเดิม 

ทำให้บริษัทร่วมกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการ ในกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Join Venture) ตามวันดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. ประกาศในเว็บไซต์ มีใจความว่า เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ

รฟม. จึงขอยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว และ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้รับแจ้งว่า รฟม. ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์

ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ รฟม. น่าจะไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

คุณสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 

ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและดำเนินกระบวนการทางอาญา คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ ดังนี้

การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม. จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

ซึ่งโดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน

คุณสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ.2562 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็ดี การยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ รวมถึง การเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างเอกสาร มิอาจกระทำได้เช่นที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการ และความล่าช้าที่เกิดขึ้น

บีทีเอส ไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ จึงพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมาย แต่พบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น บีทีเอสจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องและชอบธรรมต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในด้านการลงทุนหลายมิติของประเทศไทย