ธุรกิจเล็งเพิ่มลงทุนสหรัฐ ขานรับนโยบาย “ทรัมป์”

แม้ว่าจะถูกสบประมาทเอาไว้ว่า ไม่น่าจะทำได้ตามที่หาเสียง แต่ล่าสุดว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ควงคู่กับ “นายไมก์ เพนซ์” ว่าที่รองประธานาธิบดีและผู้ว่ารัฐอินเดียนา ก็ได้เริ่มก้าวแรกด้วยการเจรจากับยักษ์เครื่องปรับอากาศ “แคเรียร์” (Carrier) ให้คงฐานผลิตในรัฐอินเดียนา จากที่ก่อนหน้าบริษัทมีแผนย้ายฐานไปยังเม็กซิโก

ผลการเจรจาสัญญาณบวก ทรัมป์สามารถดึงฐานการผลิตให้ยังดำรงอยู่ในประเทศ เท่ากับรักษาตำแหน่งงานให้แก่ชาวอเมริกันกว่า 1,000 ตำแหน่งไว้

โดยแคเรียร์เผยข้อมูลว่า ได้รับข้อเสนอที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่จะไม่ย้ายฐานการผลิตออกไป แต่ไม่ได้ระบุว่าข้อเสนอนั้นคืออะไร โดยถ้อยคำแถลงสื่อถึงการเจรจาต่อรองที่เป็นมิตร แม้ว่าระหว่างการหาเสียง นายทรัมป์เคยขู่ว่าจะเก็บภาษีศุลกากรชนิดขูดเลือดขูดเนื้อถึง 35% หากย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ

ก้าวแรกที่สำคัญนี้อาจเป็นสัญญาณให้เห็นว่า ทั้งนายทรัมป์และทีมจะพูดจริงทำจริงในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เป็น 15% ตามที่เคยประกาศไว้ ขณะเดียวกันก็น่าจะเอาจริงเรื่องการควบคุมชายแดนประเทศ รื้อการเจรจาการค้าที่เคยมี และเล่นไม้แข็งกับเม็กซิโกและจีน

อย่างไรก็ตาม ทางแคเรียร์ระบุว่า แม้จะยังคงรักษาฐานผลิตที่สหรัฐเอาไว้ แต่บริษัทจะยังคงจุดยืนสนับสนุนการค้าเสรี และแม้การเริ่มต้นนโยบายของนายทรัมป์จะสร้างความสั่นคลอนให้กับเศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีบริษัทข้อมูลขนาดใหญ่ของไต้หวันขานรับนโยบายการนำอุตสาหกรรมกลับสหรัฐเป็นอย่างดี

บริษัท “ควอนต้า” (Quanta) ผู้นำเทคโนโลยีสัญชาติไต้หวันที่เป็นผู้รับจ้างผลิตโน้ตบุ๊กรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านเซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูลแก่บริษัทใหญ่ ๆ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน และไมโครซอฟท์ มองเห็นโอกาสในครั้งนี้ว่า หากย้ายฐานผลิตไปสหรัฐจะช่วยเพิ่มกำไรให้กับบริษัทซึ่งมีฐานในสหรัฐแล้ว 2 แห่ง คือ รัฐเทนเนสซี และ แคลิฟอร์เนีย

“เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ว่าบริษัทใดจะย้ายฐานกลับเข้าสหรัฐ จะทำให้ธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตมากขึ้น โดยเราตั้งเป้าจะเพิ่มผลผลิตและพนักงานเป็น 2 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ถ้าทรัมป์ดำเนินนโยบายปกป้องตัวเองตามที่บอก ความต้องการด้านข้อมูลภายในประเทศจะเติบโตขึ้น” นายไมก์ ยัง รองประธานอาวุโสของควอนต้ากล่าว

โดยปัจจุบันควอนต้าพยายามขับเคลื่อนธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูล ซึ่งจะเป็นการกระจายการลงทุนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากตอนนี้ต้องพึ่งพา “แอปเปิล” ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่กว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด ในการเป็นผู้ผลิต “แอปเปิล วอตช์” และ “แมคบุ๊ก” ให้กับแอปเปิล ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวมกว่า 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตปีละประมาณ 8.7% และไม่แน่ว่า นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทสัญชาติไต้หวันแห่งนี้ลดการพึ่งพาแอปเปิลลงได้มหาศาล และสยายปีกไปไกลทั่วโลก

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์