ทุน “ในหลวงรัชกาลที่ 10” พระราชทานเด็กยากไร้ ทรงสร้างอนาคตของชาติ

ขอบคุณภาพจากวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักในคุณค่าความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพด้วยการให้การศึกษา เพราะการศึกษาจะสร้างโอกาสและพัฒนาคนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศชาติต่อไป

ทว่า…

ในความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมไทย ยังคงมีเยาวชนส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับปัญหาด้านฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว จนเป็นอุปสรรคทำให้ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง

ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นจะสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำริให้นำ “ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์” และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ยากจน ได้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่อง

พระองค์พระราชทานแนวคิดให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 เพื่อนำทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ มาพระราชทานเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนทั้งชายและหญิงที่เรียนดี ประพฤติปฏิบัติดี แต่มีฐานะยากจน ยากลำบาก ได้มีโอกาสศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มั่นคงและต่อเนื่องตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและอาชีพ ไปจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย “ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน” และเปิดโอกาสให้สมัครเข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารได้ตามสมัครใจ

ในการดำเนินงาน พระองค์พระราชทานหลักการกระจายทุนให้ครบทุกจังหวัด และดำเนินการด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับพระราชทานทุน และทรงเน้นย้ำว่า

“เมื่อทำโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง…”

ในปี 2552 สามารถคัดสรรจนได้นักเรียนรับทุนการศึกษาพระราชทานจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 2 คน รวม 152 คน เป็นชายและหญิงเท่าๆ กัน โดยเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ 128 คน และสายอาชีพ 24 คน โดยสายสามัญได้รับทุนรายละ 18,000 บาทต่อปี สายอาชีพได้รับทุนรายละ 22,000 บาท

ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และพระราชปณิธานที่มุ่งจะสืบสานการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยให้มั่นคงและยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2553 โดยพระองค์ทรงเป็นประธานกรรมการ ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ สืบต่อไป

 

นอกจากนี้ ภายใต้การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ ด้วยการจัดกิจกรรม “ค่ายนักเรียนทุนฯ” ในทุกปิดภาคเรียนประจำปี เพื่อสร้างความรอบรู้ ทักษะชีวิต แรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นให้กับนักเรียนทุน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก

ซึ่งนักเรียนทุนพระราชทานฯเหล่านี้พร้อมจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี รับผิดชอบต่อหน้าที่ มุ่งมั่นขยันเรียนเพื่อนำความรู้ ความสามารถ มาร่วมกันช่วยเหลือทำประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติต่อไป โดยน้อมนำยึดมั่นตามพระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานแก่นักเรียนทุน เมื่อครั้งที่นักเรียนทุนได้เฝ้าฯรับเสด็จ ณ วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ความว่า

“เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ”

นอกจากนี้ ในทุกปี ในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำคณะนักเรียนทุนฯ เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานทุนการศึกษา นักเรียนทุนล้วนตระหนักพร้อมน้อมนำยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนตามแนวพระราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่นักเรียนทุน ดังพระราโชวาทตอนหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2554 ความว่า

“…นักเรียนทุนทุกคน ทุกรุ่น ก็ขอให้เข้าใจว่า การที่ได้รับทุนนั้น ก็เพราะแต่ละคนประพฤติปฏิบัติตัวดี เรียนดี เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะรักษาคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ให้เหนียวแน่น และพยายามศึกษาอบรมให้เพิ่มพูนกล้าแข็งยิ่งขึ้น เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลให้บุคคลเป็นคนดี มีความรู้”

พระราโชวาท เมื่อปี พ.ศ.2555 ความว่า

“…นักเรียนทุนทุกคน เมื่อได้รับโอกาสในการศึกษาสมดังที่ตั้งใจแล้ว ก็ขอให้ใช้โอกาสอันดีนี้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน ให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชาความรู้ ความฉลาดสามารถ และคุณธรรมความประพฤติ จะได้นำคุณสมบัติทั้งนั้น ไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ตนแก่บ้านเมืองได้ในอนาคต…”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ส่งผลให้ใน 7 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนที่ยากจน ยากลำบาก ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมั่นคง

ดังเช่น นายวุฒิชัย คำแดงใส เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและบริหารงานทั่วไป สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 1 เล่าว่า สมัยก่อนฐานะยากจนมาก อาศัยอยู่กับยายและน้องอีก 2 คน เป็นพี่ชายคนโต พอเรียนมาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่ออีกแล้วเพราะที่บ้านไม่มีเงิน ที่จะให้เรียนในระดับชั้นที่สูงกว่านี้ได้ กระทั่งวันหนึ่งอาจารย์ ที่โรงเรียนแนะนำว่ามีทุนการศึกษาพระราชทานฯ ที่พระราชทานให้แก่เด็กที่เรียนดีแต่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา จึงตัดสินใจสมัครเพื่อเข้ารับทุนพระราชทานดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นปีแรกของของโครงการนักเรียนทุนพระราชทาน

“ผมได้รับทุนพระราชทานตั้งแต่ชั้น ม.4 จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ชีวิตเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง ความฝันที่อยากจะเรียนให้จบปริญญาตรี เพื่อที่จะได้มีงานทำ หาเงินมาดูแลยายและน้องๆ อีก 2 คน ก็เป็นจริงขึ้นมา ซึ่งทุนการศึกษาพระราชทานนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อคนได้รับทุนคนเดียวเท่านั้น ตอนนี้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีแล้ว และได้มีงานทำตามความตั้งใจ จนมีเงินพอที่จะดูแลครอบครัวและส่งเสียให้น้องๆ อีก 2 คนได้รับการศึกษาที่ดีต่อไป” นายวุฒิชัยกล่าว

นอกจากนี้ นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นักเรียนทุนพระราชทาน จะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระองค์มีพระราโชวาทกับนักเรียนทุนพระราชทานทุกคน ซึ่งพระองค์รับสั่งว่า “ถึงแม้ว่าเราอาจจะเกิดมาไม่ได้มีอะไรที่สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาตอบแทนแผ่นดินได้ด้วยการเป็นคนดี มีคุณธรรม และเมื่อทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้วก็จงรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ดีที่สุด แล้วเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงกลับมาตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดเป็นแรงบันดาลใจสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป

%e0%b8%a7%e0%b8%b8%e0%b8%92%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b8%84%e0%b8%b3%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%aa

ขณะที่ เอ็นเตอร์ – นายวัชนันท์ ผิวขำ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ เอกเคมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นักเรียนทุนจากจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษานั้น ชีวิตลำบากมาก พ่อและแม่มีอาชีพทำสวน ทำไร่ และมีน้องอีกหนึ่งคน อาศัยอยู่ในบ้านมุงสังกะสี ความลำบากคือคุณยายประสบอุบัติเหตุอัมพาตตลอดชีวิต และคุณปู่เป็นโรคเกาต์ เงินที่ได้มาก็ต้องนำไปดูแลปู่และย่าทั้งหมด เวลาว่างก็จะมาดูแลคุณปู่คุณย่าตลอดไม่ได้ไปไหน จนกระทั่งเรียน ม.3 ที่โรงเรียนคำชะอีพิทยาคม ก็คิดว่าเราคงไม่ได้เรียนต่อแล้ว โรงเรียนก็บอกว่ามีทุนพระราชทานฯ ให้นักเรียนชายและหญิงอย่างละคนจากทุกจังหวัด จึงไปสมัครทุน เมื่อเจ้าหน้าที่มาประเมินทุกอย่างแล้วเราก็ได้รับทุน เป็นรุ่นที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2553

“เมื่อได้ทราบว่าได้รับทุนแล้ว ชีวิตเปลี่ยนเลย ดีใจที่สุดในชีวิต จากที่ไม่เคยมีเงินไปโรงเรียนสักบาทต้องห่อข้าวไปกิน มีแค่ค่ารถ 10 บาทไปกลับ ก็มีทุนซึ่งไม่ได้ช่วยแค่เรื่องเรียน แต่ยังมีเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องที่อยู่อาศัย และโอกาสในชีวิต จากที่เมื่อก่อนอยากได้หนังสือเรียนสักเล่มต้องไปทำงานรับจ้างเพื่อให้ได้รับเงินมาซื้อหนังสือ ทุนการศึกษาของพระองค์ในส่วนนี้เป็นโอกาสด้านทรัพยากร นอกจากนี้แต่ละปีนักเรียนที่ได้รับทุนจะมีโอกาสได้เข้าค่ายพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ไปดูงานโครงการส่วนพระองค์ เมื่อได้รวมกลุ่มนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้เติมกำลังใจในการพัฒนาตนเองต่อไปด้วย

“อย่างล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปดูงานด้านอาหารและการเกษตรที่งานเวิลด์ เอ็กซ์โป ประเทศอิตาลี ผมที่ไม่เคยได้ไปต่างประเทศมาก่อนในชีวิต เด็กบ้านนอกอย่างผมก็ได้ขึ้นเครื่องบิน ได้เปิดโลกเปิดโอกาสอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ทำให้คนที่ท้อแท้อย่างเราได้มีความหวังไปพัฒนาประเทศในอนาคต

“ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับนักเรียนทุนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ เมื่อครั้งเสด็จฯไปเที่ยวบินมหากุศล ที่ขอนแก่นว่า “เรียนดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ มีความสุข” นี่เป็นสิ่งที่นักเรียนทุนทุกคนรวมทั้งผมยึดปฏิบัติเสมอมา และจะทำสิ่งที่พระองค์ทรงย้ำว่า เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ก็ควรจะทำโอกาสที่ได้รับให้ดีที่สุดให้สมกับโอกาส” นายวัชนันท์กล่าว

พร้อมกันนี้ นายวัชนันท์กล่าวถึงความภูมิใจว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจที่พระองค์ทรงเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่มีความขาดแคลน และเมื่อเราเป็นนักเรียนทุนของพระองค์ ก็จะต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติของพระองค์ ไม่ทำให้เสื่อมเสีย และจะทำความดียึดมั่นตามพระราชปณิธานสืบไป

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b9%8c

ปิดท้ายด้วย โจ-นายวัชร เหมวัชรสุวรรณ อายุ 22 ปี นักเรียนทุนพระราชทาน รุ่นที่ 2 จากจังหวัดยะลา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ก่อนได้รับทุนการศึกษา ชีวิตครอบครัวไม่มั่นคง คุณพ่อคุณแม่อายุมากแล้ว คุณพ่อทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวขับรถให้กับ อบจ. ขณะที่คุณแม่รับจ้างขายอาหารเช้าหน้าบ้านซึ่งไม่รู้จะถูกเลิกจ้างเมื่อใด ในทุกๆ เช้าตนเองจะมาช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน ตักบาตรตอนเช้า วันหยุดก็จะไปช่วยงานในวัดอยู่เสมอๆ ทั้งยังมียายที่ต้องดูแล ที่บ้านจึงอยากให้เรียนสายอาชีพเพราะกลัวไม่มีงานทำ ขณะที่เราอยากเรียนต่อปริญญาตรี จนเมื่อศึกษาอยู่ชั้น ม.4 อาจารย์ที่โรงเรียนก็แนะนำให้สมัครทุนการศึกษานี้ จนผ่านการสัมภาษณ์คัดเลือกเป็นตัวแทนจังหวัด วันที่ประกาศว่าได้รับทุน คุณแม่และผมน้ำตาไหล เพราะถือว่าเรามีโอกาสในชีวิต

“ตั้งแต่ได้เขียนกรอกใบสมัครขอรับทุนการศึกษา ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับทุน แต่เมื่อได้รับโอกาสนี้จริงความรู้สึกเหมือนฝัน เมื่อได้รับพระราชทานทุนจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และได้นำซองเงินกลับมาให้คุณแม่ที่บ้าน ก็ต่างร้องไห้ในพระมหากรุณาธิคุณนี้ เหมือนต่อชีวิตทางการศึกษาของเรา”

นายวัชรกล่าวอีกว่า ทุนการศึกษาพระราชทานเข้ามาช่วยสนับสนุนชีวิตทุกด้าน โดยเฉพาะเมื่อเรียนปริญญาตรีมีค่าครองชีพ ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหอพัก ซึ่งทำให้ในแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากทางบ้าน และยังจัดสรรเงินส่งกลับไปแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ด้วย

ที่สำคัญคือนักเรียนทุนในโครงการยังมีโอกาสได้เข้าค่ายพัฒนาศักยภาพด้วย

“เมื่อมีโอกาสได้รับทุน ก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ อย่างครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และยังมีโอกาสได้เข้าค่ายพัฒนาศักยภาพส่งเสริมความรู้ต่างๆ เช่น ด้านวิชาการ ที่มีอาจารย์ภาษาอังกฤษมาช่วยสอนให้โดยตรง หรือให้ความรู้เรื่องทักษะการศึกษาต่อ มีการทัศนศึกษานอกสถานที่ เป็นการเปิดโลกความรู้ของเราไม่จบสิ้น ทำให้ได้รับโอกาสมากมาย”

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นายวัชรได้น้อมนำคำสอนของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาใช้ในการดำเนินชีวิต

“พระองค์รับสั่งว่า เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ให้ใช้โอกาสให้เต็มที่ที่สุด เพราะโอกาสที่ได้มานั้นยาก จึงนำมาพัฒนาตัวเองเสมอ ยึดมั่นการทำงานเพื่อส่วนรวม หวังว่าวันหนึ่งจะเป็นพลังแก่ประเทศชาติได้ในอนาคต ให้สมกับความภูมิใจว่ากว่าจะมีโอกาสมาถึงจุดๆ นี้ เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของอนาคตชาติ เด็กยะลาอย่างผมได้มาเรียนไกลถึงมหาสารคาม ก็ถือเป็นความแปลกใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงไม่ได้กำหนดว่าได้ทุนจากที่ไหน ต้องเรียนอะไร อยู่ที่เราชอบและขอให้ตั้งใจกับโอกาสให้มากที่สุดพอ” นายวัชรกล่าว

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%a3

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ที่มา : มติชนออนไลน์