เปิดขั้นตอน การขออนุญาตปลูก กัญชง พืชเนื้อหอม ฝาแฝดกัญชา

เปิดขั้นตอน การขออนุญาตปลูก กัญชง พืชเนื้อหอม ฝาแฝดกัญชา
เปิดขั้นตอน การขออนุญาตปลูก กัญชง พืชเนื้อหอม ฝาแฝดกัญชา

เปิดขั้นตอน การขออนุญาตปลูก กัญชง พืชเนื้อหอม ฝาแฝดกัญชา

ว่ากันตามตรงแล้ว กัญชา และ กัญชง ถือเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน นั่นคือ Cannabis sativa L. จึงทำให้ลักษณะมีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายส่วน แต่จะว่าสังเกตดีๆ ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

จุดเด่นของกัญชงนั้น ไม่ใช่สาร THC เหมือนอย่างกัญชา แต่จะเป็น CBD (Canabidiol) ซึ่งเสพแล้ว จะไม่ได้มีอาการเคลิบเคลิ้มเหมือนกับกัญชา สารสกัดจากกัญชงจึงถูกสกัดออกมาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่า กัญชงจึงถือเป็นพืชที่เนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากปลูก พอๆ กับกัญชาเลยทีเดียว

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ตามที่กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา มีประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาทั่วประเทศกว่า 2,000 คน และมีประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

1. การยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชง สามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเพื่อปลูก หรือศึกษาวิจัยให้ยื่นคำขอที่ อย.

2. เอกสารแสดงสิทธิการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอ เช่น โฉนด, น.ส.3, สัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ ในกรณีใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุ หรือที่ดิน ส.ป.ก. ให้ใช้หนังสือแสดงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้น

3. ระยะเวลาพิจารณาอนุญาตตามคู่มือประชาชน สำหรับกรณีปลูก สูงสุดไม่เกิน 135 วัน และสำหรับกรณีนำเข้า สูงสุดไม่เกิน 75 วัน ทั้งนี้ อย. จะเร่งการอนุญาตให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ อย. อยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดตั้งตลาดกลางกัญชา กัญชง ให้เป็นศูนย์กลางรับซื้อรองรับและกระจายผลผลิตกัญชา กัญชงจากเกษตรกรรายย่อยส่งไปยังภาคอุตสาหกรรม ทั่วประเทศต่อไป

สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชงแต่ยังหาคู่ธุรกิจไม่ได้ ทาง อย. จะประสานจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ปลูกและผู้รับซื้อ เช่น โรงสกัด โรงงานแปรรูป ผู้รับซื้อสารสกัดไปผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยผู้ที่สนใจ สามารถลงชื่อได้ที่ อย. และ สสจ. ทั่วประเทศ

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ เริ่มมีกลุ่มบุคคลชักชวนให้เกษตรกรสมัครเป็นสมาชิก โดยเสียค่าลงทะเบียนคนละ 1,000 บาท และซื้อหุ้นอีก 1,000 บาท จึงจะได้เมล็ดพันธุ์ไปปลูกและรับซื้อผลผลิต ขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งหลงเชื่อ

เพราะหน่วยงานที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กัญชง มีเพียง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

หากต้องการตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตนำเข้า ติดต่อที่กองควบคุมวัตถุเสพติด โทรศัพท์ (02) 590-7339 หรือ (02) 590-7756