เอ็กซิมแบงก์ โตก้าวกระโดด ตั้งเป้า ผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออกระดับโลก

EXIM BANK เผยผลการดำเนินงาน ปี 63 โตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปี ตั้งเป้า ผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออกระดับโลก

คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงว่า EXIM BANK ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) ทำให้องค์กรพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้เป็นอย่างดี แม้ปี 2563 ทุกภาคส่วนทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency : ECA) ระดับภูมิภาคในปี 2565 และเป็น ECA ระดับโลกในปี 2570 สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่าการสนับสนุนธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนไทยของ EXIM BANK ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income : GNI) อยู่ที่ 1.6% สูงกว่า ECA อื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับ 0.5-0.7%

คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

“เราพยายามเติบโต เป็นต้นไม้ใหญ่ของประเทศ พยายามแตกกิ่งก้านสาขาเพื่อการส่งออก ออกไปในหลายๆ จุด โดยเฉพาะซัพพลายเชน (Supply chain) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการเติบโตไปต่างประเทศให้ได้มากที่สุด เราพยายามพัฒนาต่อไปเพื่อที่ว่า ในอนาคตจะสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น”

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2563 เติบโตในทุกด้านตามแผนยุทธศาสตร์ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2563)

  • ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84% จาก 73,540 ล้านบาท ในปี 58 เป็น 135,228 ล้านบาท ในปี 63  (เฉลี่ย 13% ต่อปี)
  • จำนวนลูกค้าโต 163% จาก 1,631 ราย ในปี 58 เป็น 4,282 ราย ในปี 63 (เฉลี่ย 21% ต่อปี)
  • ยอดสินเชื่อคงค้างใน New Frontiers (รวมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV) ขยายตัว 53% จาก 26,022 ล้านบาท ในปี 58 เป็น 39,754 ล้านบาท ในปี 63 (เฉลี่ย 9% ต่อปี)
  • เดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทน ในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม จากธนาคารกลางเวียดนาม ทำให้ EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งใน CLMV เพื่อทำหน้าที่ให้บริการด้านคำปรึกษา แนะนำ และบริการทางการเงินแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ที่สนใจขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ : ยอดคงค้างสินเชื่อในประเทศขยายตัว 61% จาก 26,489 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 42,751 ล้านบาท ในปี 2563 (เฉลี่ย 10% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 7,237 ล้านบาท หรือ 20%

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ : ปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเพิ่มขึ้น 105% จาก 66,018 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 135,071 ล้านบาท ในปี 2563 (เฉลี่ย 15% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 13,699 ล้านบาท หรือ 11%

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ : จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC) เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแบบครบวงจร (One Stop Service)

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ก้าวเข้าสู่ธนาคารดิจิทัล : มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม TERAK นวัตกรรมประเมินความพร้อมด้านการส่งออกของผู้ประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาธนาคารเพื่อความยั่งยืน : โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคล มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สามารถบริหารจัดการการเงินและธุรกิจ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน จนทำให้องค์กรยังมีฐานะการเงินในระดับที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.81% จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,153 ล้านบาท

ปี 2564 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้

สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 EXIM BANK ยังคงช่วยเหลือลูกค้าฟื้นฟูกิจการตามสภาพคล่องของธุรกิจ และออกมาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง รวมทั้งขยายระยะเวลาอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

“วันนี้ EXIM BANK ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทย เสมือนการดูแลต้นไม้ใหญ่ของประเทศ ให้แตกกิ่งก้านสาขา พยุงภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโต ยั่งยืนไปด้วยกัน ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยแวดล้อมและลมพายุ เรายังทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมดูแลผลผลิตของต้นไม้นี้ให้เติบโต งอกงาม มีรากแก้วและรากฝอยที่แข็งแรงไปด้วยกัน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของสังคมต่อ ECA แห่งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกภาคส่วนจะยังคงดำเนินภารกิจหน้าที่ ตลอดจนกิจการต่างๆ ของตนเองต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยและภูมิภาคต่างๆ ไปด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก” คุณพิศิษฐ์ กล่าว