พริกแพง กระทบร้านอาหาร ขู่ขึ้นราคา เมนูละ 5-10 บาท 

พริกแพง กระทบร้านอาหาร ขู่ขึ้นราคา เมนูละ 5-10 บาท 
พริกแพง กระทบร้านอาหาร ขู่ขึ้นราคา เมนูละ 5-10 บาท 

พริกแพง กระทบร้านอาหาร ขู่ขึ้นราคา เมนูละ 5-10 บาท 

จากกรณีมีประชาชนในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ร้องเรียนว่า พริกขี้หนูในตลาดสดมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากภาคใต้ถูกน้ำท่วมหนัก เกษตรกรปลูกพริกส่งขายไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อราคาพริกขี้หนูในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ 27 มกราคม 2564 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับร้องเรียนจากพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกง ร้านส้มตำ และร้านยำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า ราคาพริกสดปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะพริกขี้หนูแดง ล่าสุด อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 200-250 บาท จากปกติ กก. 120-150 บาท ส่งผลให้ร้านอาหารเริ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะร้านขายยำ และส้มตำที่ใช้พริกเป็นวัตถุดิบจำนวนมาก ขณะที่ตลาดซบเซา ประชาชนไม่ค่อยออกมาจับจ่าย จากการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หากราคาพริกยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม่ค้าส้มตำอาจต้องปรับขึ้นราคาขายอีกครกละ 5 บาท ส่วนร้านยำก็อาจขอขึ้นราคาเมนูละ 5-10 บาท

จากการสอบถามพ่อค้าขายพริกและผักสดในตลาด พบว่า ราคาพริกขยับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแห่ง โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ ประสบปัญหาฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้ชาวสวนไม่สามารถปลูกพริกได้ อีกทั้งผลผลิตบางส่วนถูกน้ำท่วมเสียหาย

ประกอบกับ มีพ่อค้าส่งบางส่วนฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขาย นอกจากนี้ ยังพบว่า ในจังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาพริกขี้หนูในตลาดสดแพงขึ้นมาก เนื่องจากผลผลิตลดลงจนของขาดตลาด ส่งผลให้ราคาพริกขี้หนูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแพงขึ้น โดยเฉพาะใน อ.พิมาย ขายเม็ดละ 1 บาท

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ราคาพริกสดปรับเพิ่มขึ้นจริง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หลังจากพื้นที่เพาะปลูกพริกในหลายจังหวัดประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะช่วงปลายปีเกิดอากาศหนาวเย็นนานหลายวัน ทำให้พริกไม่ออกดอก อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกพริกในภาคใต้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดยราคาพริกเริ่มทรงตัวและปรับลดลงหลังผลผลิตเริ่มออกมามากกว่าเดิม แต่กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามดูสถานการณ์ผลผลิต และราคาพริกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ส่วนกรณีมีข่าวพื้นที่ภาคอีสาน และ จังหวัดนครราชสีมา มีการขายพริกขี้หนูเม็ดละ 1 บาท ได้ให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบแล้ว 

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า นางศิวพร คงสัตย์ อายุ 73 ปี แม่ค้าชาวอำเภอพิมาย เปิดเผยว่า ราคาพริกที่แพงขึ้นจะเป็นพริกแดง ไม่ใช่พริกขี้หนู ซึ่งเริ่มแพงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งที่ร้านจะซื้อพริกมาหลายชนิดจากตลาดสดในพื้นที่ ทั้งพริกขี้หนู พริกแดง พริกเขียว และพริกใหญ่ ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน โดยพริกแดงราคาขายจะดูที่ขนาด ถ้าเม็ดสั้นขนาด 2-3 ซม. จะขาย 24 เม็ด ในราคา 10 บาท แต่ถ้ายาวขึ้นมาอีก จะขาย 8 เม็ด ราคา 5 บาท และถ้ายาวเพิ่มขึ้นอีก 5-6 เม็ด จะขายอยู่ที่ 5 บาท หรือเฉลี่ยราคาเกือบเม็ดละ 1 บาทเลยทีเดียว

นางศิวพร กล่าวว่า ส่วนพริกเขียว หรือพริกแดงที่ยังดิบ 18-19 เม็ด จะขายราคา 5 บาท สาเหตุที่ราคาพริกแดงแพง น่าจะมาจากภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกแดงแหล่งใหญ่ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย เพาะปลูกไม่ได้ พริกแดงจึงขาดตลาด พ่อค้าแม่ค้าคนกลางและในตลาด จึงฉวยโอกาส มาแบ่งพริกส่งขายเป็นทอดๆ เพื่อเอากำไร 

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สาเหตุที่พริกขี้หนูพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและหนาวนาน ทำให้พริกออกดอกน้อย ผลผลิตจึงลดลงกว่าปกติ

และอีกสาเหตุคือกระทบจากการปิดด่านพม่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าพริกได้ ปริมาณพริกในประเทศจึงไม่เพียงพอ ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาของปี 2563-2564 จะสูงกว่าปี 2562