มาแน่ ครัวยิ้ม ต้นแบบร้านอาหาร นำกัญชามาเป็นเครื่องปรุง หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

มาแน่ ครัวยิ้ม ต้นแบบร้านอาหาร นำกัญชามาเป็นเครื่องปรุง หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ได้มีนโยบายพัฒนากัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเริ่มดำเนินการในธุรกิจร้านอาหาร ให้ผู้ประกอบการที่มีความสนใจนำกัญชาไปปรุงอาหาร ทั้งนี้ ได้ตั้งชื่อร้านอาหารที่มีกัญชาปรุงผสมว่า ครัวยิ้ม นั้น

สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งในปีที่ 2 นี้ มีเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้พืชกัญชาและกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ การนำใบกัญชาไปปรุงในอาหาร นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งอาหารไทย ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกอยู่แล้ว ว่ามีความอร่อย มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและสุขภาพ และเมื่อนำใบกัญชา ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนไทย  ประกอบกับปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มขึ้นในการใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีวัตถุดิบใบกัญชาที่มีคุณภาพ อย่างยั่งยืน

นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ รองนายกฯ อนุทิน ที่ได้ริเริ่มโครงการครัวยิ้ม สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงรับลูกต่อเพื่อให้โครงการดังกล่าวยั่งยืน กล่าวคือ สถาบันกัญชาฯ จะเปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจ ต้องการนำใบกัญชาไปปรุง และผ่านการอบรมหลักสูตรการประกอบธุรกิจอาหารจากกัญชากัญชง ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มาลงทะเบียน และ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะจับคู่ และช่วยจัดหากัญชาและกัญชงจากผู้ปลูกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในพื้นที่ใกล้เคียงให้ โดยฐานข้อมูลผู้ปลูกที่สถาบันกัญชาทางการแพทย์ใช้จะนำมาจาก อย. จึงต้องขอบคุณ อย. ที่ช่วยต่อห่วงโซ่ธุรกิจให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ได้กล่าวเสริมถึงการสนับสนุนวัตถุดิบใบกัญชาให้ผู้ประกอบการว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นเลขานุการนั้น มีเจตนาที่จะให้วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาภายใต้การดูแลของภาครัฐ ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนของราก ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เพื่อสร้างรายได้ การพิจารณาดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการว่า ส่วนของใบ ราก กิ่งก้านลำต้นของกัญชาและกัญชง มีสารเมาหรือ THC ในปริมาณน้อย ดังนั้น จึงร่วมมือกับสถาบันกัญชาทางการแพทย์ทำให้เจตนารมณ์ของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษเป็นจริง โดยจัดหาความต้องการ หรือ demand ที่มีอยู่จริง ปลูกแล้วมีแหล่งซื้อแน่นอน โดยการจับคู่ผู้ปลูกกับผู้ประกอบการจะทำทั้งกัญชาและกัญชง และทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. จะมาช่วยต่อยอดทำให้มีหลักสูตรที่มีมาตรฐาน และเกิดการอบรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยหลักสูตรจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ และพร้อมอบรมภายในเดือนมีนาคมนี้

ต้นกัญชา

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจนำใบกัญชาไปปรุง ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการประกอบธุรกิจอาหารจากกัญชาและกัญชงเสียก่อน จึงจะสามารถลงทะเบียนเพื่อให้สถาบันกัญชาทางการแพทย์จัดหาวัตถุดิบใบกัญชา กัญชง ที่มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมายให้ได้ ที่เพจ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้เป็นต้นไป