“กาแฟทุเรียน” จังหวัดยะลาติดลมบน ตลาด”ชาวจีน”ฮิต-คู่แข่งหั่นราคาดุ

กาแฟทุเรียนฮิตติดตลาดจีน ผู้ประกอบการแข่งขันเดือด ตัดราคามากกว่า 100% หวังแย่งลูกค้าชาวต่างชาติ ชี้คนไทยเริ่มนิยมบริโภคมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นสินค้าแปลก “รอยัล คอฟฟี่” คาดปี 2560 ธุรกิจเติบโต 3%

นางสาวหงวน มงคลประจักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สกาย ออน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟทุเรียนรายแรกของประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 สินค้าหลักคือ กาแฟทุเรียน ภายใต้แบรนด์รอยัล คอฟฟี่ (Royal Coffee) และหวางเจีย (Huangjia) นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ กาแฟมอคค่า กาแฟขาว ชานมไทย ชานมทุเรียน รวมถึงเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้ผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดคือ ช็อกโกแลตทุเรียน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

โดยวัตถุดิบหลักอย่างเมล็ดกาแฟ ได้นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และบราซิล ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่อัตราการแลกเปลี่ยนและอัตราภาษีนำเข้า ส่วนวัตถุดิบหลักอีกอย่างคือทุเรียน ซึ่งเป็นวัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด โดยจะสั่งซื้อในรูปแบบทุเรียนพันธุ์หมอนทองผงจากบริษัทผู้ผลิตในภาคกลาง ทั้งนี้เนื้อทุเรียนล้วน 20 กิโลกรัม (กก.) จะสามารถผลิตผงทุเรียนได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น จึงทำให้ผงทุเรียนมีราคาสูง

สำหรับราคาผงทุเรียนจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลของผลผลิต หากเป็นตามฤดูกาล ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ราคาจะอยู่ที่ 1,300-1,500 บาท/กก. หากเป็นทุเรียนนอกฤดูกาล ราคาประมาณ 1,500-1,700 บาท/กก. ซึ่งผงทุเรียนนี้จะมีการเก็บสต๊อกไว้ในห้องเย็นของโรงงาน แต่จะไม่เก็บนานเกิน 12 เดือน เนื่องจากจะทำให้กลิ่นและความสดของทุเรียนหายไป บางส่วนจะนำมาจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตขนมและไอศกรีมในจังหวัดด้วย

ขณะที่บริษัทมีโรงงานผลิตอยู่ที่อ.เบตงจ.ยะลา มีกำลังการผลิตสูงสุด 300,000 ซอง/เดือน และจะใช้การขนส่งทางเรือ ออกทางท่าเรือมาเลเซีย ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มคนไทยหันมาบริโภคกาแฟทุเรียนมากขึ้น ส่วนใหญ่มองว่าแปลก จึงหันมาทดลองดื่ม ขณะเดียวกันคาดว่าปี 2560 ตลาดจะเติบโตประมาณ 3% โดยเฉพาะตลาดจีน

ปัจจุบันด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการหันมาผลิตและจำหน่ายกาแฟทุเรียนจำหน่ายมากขึ้น ขณะนี้มีประมาณ 4-5 รายในจังหวัดยะลา ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าเน้นคุณภาพ เนื่องจากบางรายใช้ผงทุเรียนราคาถูก ที่ผลิตจากทุเรียนตกเกรด จึงทำให้ลูกค้าไม่ติดใจ เพราะสิ่งสำคัญของกาแฟทุเรียนคือ กลิ่นหอมของทุเรียน และรสชาตินุ่มนวลระหว่างกาแฟผสมกับทุเรียน อีกทั้งยังพบการตัดราคากัน เช่น บริษัทจำหน่ายกาแฟทุเรียนถุงใหญ่ราคา 380-390 บาท แต่บางรายจำหน่ายที่ราคา 88 บาทเท่านั้น ช่วงแรกอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เมื่อพิจารณาคุณภาพแล้ว หลังจากนั้นลูกค้าก็กลับมาซื้อที่บริษัทเช่นเดิม

“มองว่าสถานการณ์ราคาทุเรียนของไทยยังคงสูงไปอีก 2-3 ปี เนื่องจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ดอกร่วง ได้ผลผลิตน้อย จึงทำให้ทุเรียนราคาสูงขึ้น ประกอบกับผลผลิตที่ได้นั้นคุณภาพยังไม่ค่อยดี จึงทำให้พ่อค้าชาวจีนหรือล้งจีนไม่มากว้านซื้อ มีแต่พ่อค้าคนไทยที่ต้องรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น”

นางสาววริศรา ธนะโชติ ผู้จัดการฝ่ายขาย เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีน 90% และคนไทย 10% โดยจะเน้นการส่งออกไปต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ จีน และฮ่องกง ส่วนในประเทศจะวางจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่มีทัวร์จีนลง หรือตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ๆ และในโมเดิร์นเทรด ได้แก่ สนามบินดอนเมือง เทอร์มินอล 21 ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ แพลทินัม สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เอ็มโพเรียม เอเชียทีค ฟู้ดแลนด์ และเดอะมอลล์

ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมคือ กาแฟทุเรียน 80% รองลงมาเป็นชานมทุเรียน 20% และสินค้าที่บริษัทเพิ่งวางจำหน่ายล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือ ช็อกโกแลตทุเรียน เป้าหมายเพื่อส่งออกไปเกาหลีและญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่นิยมดื่มกาแฟ อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนที่จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ปีหน้าอาจจะเห็นเป็นขนมขบเคี้ยว รวมถึงการตั้งออฟฟิศการขายที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์