ชี้ โควิด ทำให้เกิด พนักงานพันธุ์ใหม่ อึด ถึก ทน ทุกสถานการณ์

ชี้ โควิด ทำให้เกิด พนักงานพันธุ์ใหม่ อึด ถึก ทน ทุกสถานการณ์

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ เผยแพร่บทวิเคราะห์น่าสนใจ เกี่ยวกับสถานการณ์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2564 ว่า ประเทศไทย กำลังรับมือกับการที่เชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดระลอกใหม่  ขณะที่วัคซีนหรือยารักษายังไม่ได้รับการรองรับมาตรฐานหรือนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รูปแบบต่างๆ ไปจากเดิม โดยมีกระแสการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การปรับตัวเพื่อการทำงานและการใช้ชีวิต รวมแล้วมี 8 หัวข้อสำคัญ คือ

  1. ค้าปลีกแบบ Omni Channel มากขึ้น

ธุรกิจค้าปลีกปรับใช้ Omni Channel ผสานกับการค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมาก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าขายแบบบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร มีการเชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มความประทับใจให้แก่ลูกค้า แบบไม่มีสะดุด ได้กลายมาเป็นเทรนด์การทำตลาดและการค้าขายที่ห้างร้านยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจ ทุ่มเข้ามาลงทุนสร้างระบบ รุกตลาดเชิง Omni Channel มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันค้าปลีกรายใหญ่ได้ปรับตัวไปเป็น Omni Channel กันแล้ว นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ที่ทำให้ห้างใหญ่ต้องหยุดกิจการในรอบแรก โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจแบบ Omni Channel ให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายทั่วโลก ผ่านการพัฒนา Digital Platform การบริหารฐานข้อมูลครบวงจร การดำเนินงานตามกลยุทธ์และเทคโนโลยีต่างๆ

  1. เกิดการลดต้นทุนการดำเนินการต่างๆ เพิ่มขึ้น

โดยต้นทุนหลักที่บริษัทต่างๆ จะปรับใช้เป็นอันดับแรก คือการไม่รับพนักงานใหม่เพิ่ม และปรับใช้ทรัพยากรคนทำงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเลี่ยงการปลดพนักงานหรือการเลิกจ้าง อันจะทำให้เสียภาพลักษณ์

  1. เกิดพนักงานพันธุ์ใหม่ที่ต้องอึด ถึก ทน ให้ได้ทุกสถานการณ์

รูปแบบการทำงานที่อาจเปลี่ยนไปจากเดิม จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กรที่ต้องการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยหนึ่งคนอาจได้รับมอบหมายมากกว่าหนึ่งหน้าที่หลัก และหนึ่งในสามของแรงงานที่ยังคงมีงานทำ จำต้องอดทนแบกรับต่อการถูกลดค่าจ้าง สวัสดิการแรงงาน หรือเงินรายได้พิเศษ ไปพร้อมกับการพัฒนาตนเอง ฝึกฝนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้คงรักษาตำแหน่งหน้าที่การงานไว้ได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลงเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

  1. มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

เพื่อช่วยให้สามารถทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือสถานที่อื่นๆ (remote working) หลังจากผ่านการทดลองใช้งานมาในปี 2563 การนำเทคโนโลยีเข้ามารองรับการทำงานทางไกลในรูปแบบต่างๆ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ที่จะคงอยู่ไปแบบถาวรจนกว่ามนุษยชาติจะหาวิธีกำจัดเชื้อโรคโควิด-19 ให้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้ ทำให้ทักษะด้าน Hard Skill เช่น การตลาดดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล กลายเป็นสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการมากกว่าทักษะด้าน Soft Skill

  1. เกิดการผันผวนในตลาดแรงงานฟรีแลนซ์

กระแสการทำงานแบบ Contact และ Freelance ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีก่อนจะมีโรคโควิด -19 เกิดขึ้นบนโลก ทำให้แรงงานรุ่นใหม่หันไปสู่ตลาดงานแบบฟรีแลนซ์มากกว่าการทำงานประจำ แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนยากจะควบคุม ซึ่งมีผลมาจากการแพร่ระบาดของโรค ได้ทำให้แรงงานฟรีแลนซ์ไหลเข้าสู่ระบบงานประจำ เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ในทางกลับกันก็จะทำให้เกิดแรงงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น จากที่มีหลายบริษัทปิดตัว คนจึงตกงานจำนวนมาก จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ไหลเข้าหางานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น

  1. ตลาดรถยนต์รุกพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น

ในช่วงท้ายของปี 2563 ตลาดรถยนต์เริ่มกลับมาเดินกลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนการทำตลาดจากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยการยิงแคมเปญ โฆษณา ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ และมีการนำมาผสมผสานกับการทำตลาดแบบออฟไลน์ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน เช่น การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ผ่านออนไลน์  การบริการหลังการขาย การทดสอบ การส่งมอบรถ การมอบข้อเสนอสุดพิเศษในการจองหรือผ่อนชำระ ที่ถูกนำมาปรับใช้ในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์ เพื่อดึงดูดและเชิญชวนลูกค้าเข้ามา

  1. ธุรกิจออฟฟิศให้เช่าต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

จากปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น ทำให้เกิดการทำงานระบบใหม่ คือ Work From Home และกำลังถูกนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564 หลังพบการแพร่ระบาดของโรคระลอกใหม่ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สั่นคลอนธุรกิจออฟฟิศให้เช่าได้ หากเกิดการ WFH ต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ และไม่เห็นความจำเป็นของการต้องเช่าหรือมีออฟฟิศเพื่อดำเนินกิจการ เพราะการทำงานที่บ้านก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้เหมือนเดิม นอกจากนี้แรงกดดันด้านการเงินหรือรายได้ยังส่งผลให้ผู้เช่าหลายรายลดขนาดพื้นที่สำนักงานลง ในที่การเช่าพื้นที่ล่วงหน้าจะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยี ที่มีความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

  1. รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป

จากอดีตที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ มีคนนิยมหลั่งไหลท่องเที่ยวตามสถานที่ยอดนิยมมากมายในช่วงเทศกาลวันหยุด ก็จะปรับเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวแบบระมัดระวังตัวมากขึ้น มีการจับกลุ่มไปกันเองของนักท่องเที่ยวที่เป็นแบบครอบครัวหรือเพื่อนสนิท หรือกรุ๊ปเล็กๆ ในแบบ Social Distancing เพื่อให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวตามแผนการ อย่างปลอดภัยตลอดทริป ในขณะที่การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จะค่อยๆ หายไป