เร่งสร้างอาชีพ จังหวัดตาก มีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง

เร่งสร้างอาชีพ จังหวัดตาก มีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง

โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของวิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก ภายใต้การสนับสนุนจาก ทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า พื้นที่จังหวัดตาก นอกจากจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ยังคงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่าง ยังเป็นพื้นที่รอยต่อของพรมแดนที่มีระยะห่างของกลุ่มชน ความเหลื่อมล้ำ และ ผู้ด้อยโอกาส หากวัดปริมาณความไม่เท่าเทียมนี้คงไม่น้อยไปกว่าจำนวนชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ คือ กลุ่มเปราะบางที่ได้รับโอกาสด้านต่างๆ น้อยถึงน้อยที่สุด

“จังหวัดตาก มีผู้ด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมากที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง ด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดน แต่วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก มีศูนย์และมีข้อมูลของทุกพื้นที่อยู่แล้ว รู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดีว่าเขาต้องการฝึกอาชีพด้านใด ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาทักษะอาชีพให้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานพอดี คิดว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของวิทยาลัย” คุณรัตนา เจริญศรี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ อธิบายเริ่มต้น

ก่อนบอกต่อ สำหรับหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพที่วิทยาลัยชุมชนตาก ออกแบบไว้มี 3 หลักสูตรคือ 1. ช่างเชื่อมโลหะ 150 ชั่วโมง 2. นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง โดยทั้ง 2 หลักสูตรใช้สถานที่ในวิทยาลัยชุมชนตาก ส่วนหลักสูตรที่ 3 การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกากะญอ ดำเนินการในพื้นที่อำเภออุ้มผาง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมทั้งสิ้น 100 คน แบ่งเป็นช่างเชื่อมโลหะ 40 คน แปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้า 40 คน และ นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 20 คน เหตุผลที่กลุ่มเป้าหมายนวดแผนไทยมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะเป็นการฝึกทักษะที่มีเรื่องของสุขภาพร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องฝึกแบบเข้มข้น

พัฒนาทักษะหมอนวดไทย

“เป็นหมอนวดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใบอนุญาตค่ะ” คุณบุญมาก จุ้ยเนียน กลุ่มเป้าหมายนวดไทยเพื่อสุขภาพ บอกถึงเหตุผลที่มาเข้าร่วมอบรมในวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ  ส่วนจุดเริ่มต้นการเป็นหมอนวดของเธอ คือ เคยไปนวดรักษาขา อาจารย์ที่รักษา รู้สึกสงสารที่เธอไม่มีงานทำ จึงถ่ายทอดวิชาให้ แต่การเป็นหมอนวดนิรนาม ไร้ซึ่งการรับรอง ทำให้ต้องประกอบอาชีพอย่างหลบๆ ซ่อนๆ

“วิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ ใบประกาศนียบัตร คือ เครื่องหมายรับรองที่สำคัญมาก แต่การได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย พอดีมีโครงการนี้เปิดให้อบรม เลยสมัคร แล้วเขาก็เรียกตัวให้เข้าไปเรียน ดีใจมาก เพราะต้องการใบนี้อยู่แล้ว แต่จบแค่ ป.6 ทำให้ไม่รู้ว่าจะไปเรียนหรือได้ใบจากที่ไหน ประสบการณ์ก็มีไม่มากเหมือนเลี้ยงชีพไปวันๆ ได้ห้าสิบบาท ร้อยบาทจากการนวด นวดใหม่ๆ ได้ห้าสิบบาท ได้ระดับเป็นร้อยก็ประมาณปีที่ 2 กว่าจะมาพัฒนาตรงนี้ต้องใช้เวลา การที่ได้มีโอกาสอยู่ตรงนี้ทำให้ได้ทักษะการนวด นวดแบบไหนที่ลูกค้าจะไม่เป็นอันตราย” คุณบุญมาก บอกอย่างนั้น

คุณสิรวีร์ อมรภีรสิทธิ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายนวดไทยเพื่อสุขภาพ เป็นคนหนึ่งที่พลิกชีวิตจากอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นหมอนวดไทยเพื่อสุขภาพ คล้ายจะเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฝ่ามือ แต่ในเมื่อจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งด้วยสองมือของตัวเอง เธอจึงรีบคว้าไว้

“เมื่อก่อนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ต่อมาพ่อแม่เริ่มอายุมาก เริ่มป่วยพร้อมกันสองคน ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาล ต้องออกมาดูแล พอออกจากอาจารย์ไม่มีรายได้ ตอนแรกปี 2554 ได้มาฝึกการนวดกับพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ไม่ได้ใบประกาศนียบัตรจากสาธารณสุขจังหวัด เพราะตอนนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ พอเห็นโครงการฯ นี้เปิดรับสมัคร จึงสนใจเพราะใกล้บ้าน อยากพัฒนาทักษะฝีมือตนเองและอยากได้ใบประกาศนียบัตร เพื่อเป็นใบเบิกทาง” คุณสิรวีร์ กล่าว

อีกหนึ่งท่านที่เข้าร่วมโครงการ แต่มีเป้าหมายไกลถึงต่างแดน คือ คุณธนาวัน ปัญญาไว เธอต้องการใบประกาศนียบัตรเพื่อไปทำงานนวดแผนโบราณที่ประเทศออสเตรเลีย เพราะแต่งงานอยู่ที่นั่นแต่กฎหมายแรงงานไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีใบ Certificate ประกอบอาชีพร้านนวดแผนโบราณได้

ฝึกฝน

“ที่ออสเตรเลียมีกฎหมายระบุ ถ้าไม่มีใบประกาศห้ามนวด และต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 150 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้ความรู้เรื่องการนวดเป็นศูนย์ค่ะ แต่เมื่อมาอบรม ได้เรียนรู้อนาโตมี่เกี่ยวกับเส้นทุกอย่างในร่างกายเราจุดไหนที่สำคัญ รวมทั้งวัดความดัน ซักประวัติโรคไหนที่นวดไม่ได้ จริงๆ เราไม่เคยรู้เลย ถ้าไม่มาอยู่ตรงนี้ จะไม่รู้เลยว่ามันอันตรายกับคนที่มานวดแค่ไหน” คุณธนาวัน เผย

คุณรัตนา ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เผยเพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายที่ฝึกการนวดไทยเพื่อสุขภาพ มีน้องคนหนึ่งพิการทางการได้ยิน ชื่อ แอน-ส่งศรี ต๊ะปัญญา แต่สามารถสื่อสารได้โดยมีพี่เลี้ยง หรือคนในหมูบ้านช่วยดูแล ตอนแรกอาจารย์ผู้สอนกังวลใจว่าน้องจะเรียนรู้ได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระบบร่างกาย แต่พอคิดได้ว่าเขาก็เป็นคนด้อยโอกาสคนหนึ่ง ทีมงานจึงมีการประชุมกลุ่มวิทยากรเพื่อหารือกัน จนได้ข้อสรุปว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอสัมภาษณ์เพื่อดูความพร้อมทางร่างกายและความตั้งใจจริง โดยให้ทดลองเรียนสักชั่วโมงสองชั่วโมง หากเขาสามารถเรียนรู้ได้ก็อนุญาตให้เรียน ผลปรากฏว่าทำได้ดี จึงได้รับการฝึกอาชีพจนเรียนจบ และประกอบอาชีพนวดอยู่ที่บ้าน ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ตั้งใจ

ด้าน คุณนภัสรดา ใจชมภู ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย กลุ่มนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า  หลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ มีการฝึกอบรมทั้งสิ้น 150 ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและคนพิการทางการได้ยิน เหตุผลที่รับ เพราะคิดว่ามือเท้าดีน่าจะนวดได้ วิธีการสอนคือ ไปจับมือพาเขาทำ ให้คนที่เข้าใจช่วยสื่อสาร แต่เวลาเรียนก็จะแยกกัน และใช้วิจารณญาณของเราว่าควรสอนแบบไหนให้จดจำเอาไปทำได้ ซึ่งสอนไม่ยาก เพราะคนกลุ่มนี้จำแม่น ยิ่งคนตาพิการยิ่งจำแม่น อยากฝึกให้เขามีอาชีพไว้เลี้ยงดูตัวเองจะได้ไม่เป็นภาระกับครอบครัว

คุณนภัสรดา บอกด้วยความภูมิใจด้วยว่า ลูกศิษย์ของเธอ 19 คน สามารถเปิดร้านนวดเองได้แล้ว 2 คน ที่เหลือเป็นฟรีแลนซ์ รับนวดอิสระอยู่ในชุมชน ได้ชั่วโมงละ 100-200 บาท พอเลี้ยงตัวได้ บางคนมีรายได้เป็นพันบาทต่อวัน อยากบอกว่า อาชีพนวด เป็นอาชีพเดียวที่ยิ่งแก่ ยิ่งเชี่ยวชาญ ไม่เหมือนอาชีพอื่นที่แก่แล้วทำไม่ได้