เร่งพัฒนาระบบติดตามกัญชา-กัญชง เพื่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ

เร่งพัฒนาระบบติดตามกัญชา-กัญชง เพื่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ
เร่งพัฒนาระบบติดตามกัญชา-กัญชง เพื่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ

เร่งพัฒนาระบบติดตามกัญชา-กัญชง เพื่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ

จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 3 เมื่อเร็วๆ นี้ มีวาระติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานเร่งรัด เพื่อผลักดัน กัญชา-กัญชง สู่ พืชเศรษฐกิจ ด้วยการ บูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่งานต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ให้รายละเอียดการประชุมในครั้งนี้ว่า ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการรับมือการแพร่ระบาดเป็นหลัก แต่ก็จะทิ้งงานใดไปไม่ได้ ทุกนโยบายยังคงต้องดำเนินต่อ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขที่มีความตั้งใจขับเคลื่อนดำเนินการตามแผนงาน จนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เช่น การลดระยะเวลาและขั้นตอนในกระบวนการขออนุญาตปลูก ผลิต และจำหน่ายให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด ในทางเศรษฐกิจ โดยการนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญอื่นๆ อาทิ งานต้นน้ำ ได้แก่ การจัดธนาคารเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชา-กัญชง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับกฎกระทรวงว่าด้วยกัญชงจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 29 มกราคม 2564 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชงที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยได้ประสานงานเบื้องต้นไปกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อช่วยจัดหาให้ในระยะแรก

สำหรับงานปลายน้ำ ได้แก่ การจัดทำแนวทางการอนุมัติผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งจากประสบการณ์การใช้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การจัดการความเสี่ยงของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และ การจัดทำแนวทางการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ โดยความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์ กับ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่ง นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผอ.สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการตามภารกิจของสถาบันฯ ต่อไป

“ประเด็นที่ได้รับความสนใจในการประชุมครั้งนี้คือ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการกำกับดูแลและติดตามกัญชา-กัญชง ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์จนถึงมือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้ดำเนินการมาในระดับหนึ่งแล้ว และจะมีการยกระดับให้สามารถประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ และเพื่อให้สามารถวางแผนเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ทิศทางและแรงลมสามารถทำให้เกสรปลิวได้ไกลถึง 10 ไมล์ ดังนั้น ในการขออนุญาตปลูกกัญชา-กัญชง จะต้องมีการกำหนดระยะห่างระหว่างต้น เพื่อไม่ให้เกิดการผสมของเกสร เนื่องจากดอกเพศเมียมีมูลค่าสูงกว่าและเป็นที่ต้องการในตลาดอุตสาหกรรม จากตรงนี้ อย. จะมีข้อมูลให้ผู้ประกอบการพิจารณาในระหว่างที่มาขออนุญาตปลูกกัญชา-กัญชง ซึ่งระบบเรียลไทม์นี้คาดว่าจะเปิดใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว