เปิด 6 เคล็ดลับการเงิน รักษาสภาพคล่องอย่างไร ให้ธุรกิจไปต่อ

เปิด 6 เคล็ดลับการเงิน รักษาสภาพคล่องอย่างไร ให้ธุรกิจไปต่อ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

เมื่อต้นปี 2563 ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วน ทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ หลายคนยอมเจ็บและรอเริ่มต้นใหม่ เพราะคิดว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นในไม่ช้า แต่เมื่อปลายปีก็ดันเกิดการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น จนทำให้หลายธุรกิจที่อดทนรอ ทำท่าจะไปต่อไม่ไหว

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธีรักษาสภาพคล่องการเงินให้ธุรกิจอยู่รอดช่วงโควิด-19 ที่เป็นประโยชน์กับเหล่าผู้ประกอบการ ไว้ด้วยกัน 6 ข้อ ดังนี้

  1. วิเคราะห์รายจ่าย จัดเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ ที่ต้องทำเพื่อวางแผนทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในรายจ่ายที่มี เพื่อจัดสรรต้นทุนการดำเนินการใหม่ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลง การนำรายจ่ายมาแยกคิดวิเคราะห์ จะทำให้เห็นชัดขึ้นว่าจะสามารถลดต้นทุนจากตรงไหน เรื่องอะไรได้บ้าง อะไรจำเป็นจริง อะไรที่ไม่จำเป็น และจะทำให้พอมองเห็นภาพรวมได้ว่า หากลดรายจ่ายลงทุกทางที่ทำได้แล้วจะสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินไปได้ยาวไกลแค่ไหน
  2. รักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ด้วยเงินสด ในสถานการณ์เช่นนี้การถือเงินสดไว้ในมือ เป็นการรักษาสภาพคล่องในธุรกิจและชีวิตได้ดีกว่าการเก็บไว้ในรูปทรัพย์สินอื่น เพราะหากเกิดการติดขัด มีปัญหาใดๆ ก็สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้ทันที การทำธุรกิจในช่วงนี้จึงควรเน้นไปที่การซื้อ-ขาย ใช้จ่ายด้วยเงินสดมากกว่าการดิวจ่ายเป็นรายงวด รวมทั้งควรรวบรวมทำลิสต์ทรัพย์สินที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เอาไว้ใช้เผื่อกรณีฉุกเฉินที่เกินจากแผนที่คาดการณ์ไว้ด้วย
  3. เข้าหาสถาบันการเงินที่มีมาตรการช่วยเหลือ สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนพร้อมทำความเข้าใจและช่วยเหลือ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพลูกหนี้หรือเข้าไปเป็นลูกค้ารายใหม่ ปัจจุบันมีมาตรการเงินกู้ช่วยรักษาสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำให้เลือกใช้บริการมากมาย หากสุดท้ายแล้วเกิดการติดขัดด้านการเงิน ขาดสภาพคล่องเป็นเงินสด สถาบันการเงินต่างๆ นี่ล่ะที่จะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้
  4. นำสินค้าหรือบริการที่มีมาแปรเปลี่ยนเป็นเงินสด เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ในขณะที่ธุรกิจเองก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยสภาพคล่องทางการเงิน การนำสินค้าหรือบริการที่มีมาปรับเปลี่ยนเล่นโปรโมชั่น ปรับลดราคาหรือทำการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคในขณะนั้นๆ เช่น ลดราคาต่ำลง ซื้อแบบลดแลกแจกแถม เหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยกระตุ้นเงินในกระเป๋าผู้คน เข้ามาสู่ระบบได้ทั้งนั้น ดังนั้น ถ้ากำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือต้องการระดมเงินสดมาไว้ในมือ นี่ก็เป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ดีเช่นกัน
  5. ชะลอการลงทุน เป็นหนทางที่ควรเลี่ยงหากธุรกิจหรือพอร์ตการลงทุนนั้นไม่ใช่สิ่งที่กำลังอยู่ในกระแสตอบรับของผู้บริโภคในช่วงนี้ เพราะการลงทุนท่ามกลางกำลังซื้อของผู้คนลดลง นอกจากจะไม่เห็นผลจากการลงทุนที่รวดเร็วแล้ว ยังจะเสี่ยงทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหาจากการทำกำไรไม่ได้อีกด้วย
  6. ควบรวมธุรกิจ ยุบแผนก ลดสาขา การลดจำนวนสาขา ยุบแผนก พักงานคนงาน เป็นมาตรการที่นำมาใช้จัดการรับมือในสภาพเศรษฐกิจขาลง ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เป็นทางเลือกในการก้าวข้ามสถานการณ์แบบนี้ จัดเป็นวิธีการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ที่จะทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจน สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจได้ ไปจนถึงเป็นโอกาสในการแจ้งเกิดหรือรีแบรนด์ใหม่ๆ ได้ด้วย