มือใหม่หัดขาย! 5 ปัญหา ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ และวิธีการรับมือ

มือใหม่หัดขาย! 5 ปัญหา ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ และวิธีการรับมือ
มือใหม่หัดขาย! 5 ปัญหา ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ และวิธีการรับมือ

มือใหม่หัดขาย! 5 ปัญหา ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ และวิธีการรับมือ

แม้ว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยจากผู้ประกอบการยุคปัจจุบัน แต่อีกด้านหนึ่งการขายของออนไลน์ก็มีอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย และอาจเป็นดาบสองคมให้กับธุรกิจได้เหมือนกัน หากมีการบริหารจัดการไม่ดีพอ

โดย Plaern By Krungsri ได้พูดถึง 5 ปัญหาที่คนขายของออนไลน์มักพบเจอบ่อยและวิธีการรับมือ ดังนี้

  1. ไม่ได้วิเคราะห์ตลาด

หลายคนมักมองว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่ายๆ ใครก็สามารถทำได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขายของออนไลน์ก็คล้ายกับการทำธุรกิจทั่วไปที่ต้องมี “การวิเคราะห์ตลาด” ว่าสินค้าของเรามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ผู้ประกอบการควรมีแผนการดำเนินงาน หรือสร้างกลยุทธ์ วิเคราะห์ออกมาว่าธุรกิจเรามีจุดเด่น-จุดอ่อนตรงไหน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงคิดเรื่องการทำการตลาด การใช้ช่องทางในการสื่อสาร ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค การทำโปรโมชั่น เพื่อสร้างการรับรู้ที่มีต่อสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

  1. การส่งสินค้าไม่เป็นระบบ

“การจัดส่งสินค้า” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องตกม้าตายมาแล้วนับไม่ถ้วน ลองนึกภาพดูในวันที่มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากจะวุ่นวายกันขนาดไหน เมื่อมีการบริหารจัดการไม่ดี เก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ ย่อมเกิดข้อผิดพลาดเวลาจัดส่งสินค้าได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ คือหาคนมารับผิดชอบโดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลของลูกค้าผ่านโปรแกรม Microsoft Office เช่น Excel หรืออาจจะลงทุนกับแพลตฟอร์มที่ให้บริการเรื่องจัดการดูแลออร์เดอร์สินค้าก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องที่เหนือการควบคุมที่เป็นปัญหาเวลาส่งสินค้า คือสินค้าอาจเกิดการชำรุดจากการขนส่งก่อนไปถึงมือลูกค้า โดยผู้ประกอบการสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยการตรวจเช็กสินค้าทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจมีสภาพพร้อมส่ง 100% หรือไม่ รวมถึงหาวัสดุกันกระแทกเข้ามาช่วยในการขนส่ง เช่น เศษกระดาษ บับเบิล กระดาษลูกฟูก ห่อหุ้มไปกับสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจสินค้าจะส่งไปถึงมือลูกค้าแบบสมบูรณ์ ไม่เกิดการชำรุด

  1. ไม่อัพเดตสินค้าแบบ Real Time

หากเราเป็นลูกค้าคงเสียความรู้สึกไม่น้อย เมื่อสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว ต่อมาได้รับการแจ้งว่า “สินค้าหมดสต๊อก” นอกจากจะทำให้แบรนด์เสียโอกาสสร้างรายได้แล้ว ยังเกิดการเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ที่ขายสินค้าเดียวกัน

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพียงแค่ผู้ประกอบการหมั่นอัพเดตข้อมูลของสินค้าอยู่เรื่อยๆ หรืออาจจะทำตารางสรุปข้อมูลในรอบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ดูว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพื่อวางแผนว่าสินค้ามีความเสี่ยงที่จะขาดตลาดหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีการพรีออร์เดอร์ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงที่สินค้าจะหมดสต๊อก เพราะรู้ตัวเลขจำนวนสินค้าที่ลูกค้าต้องการซื้อโดยตรง

  1. ไม่มีบริการหลังการขาย

ผู้ประกอบการอาจจะคิดว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ขอแค่มีการสั่งซื้อ-โอนเงิน-ส่งสินค้าเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ จึงทำให้บริการหลังการขายถูกละเลยไป แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่มองหา “บริการหลังการขาย” เช่น การรับประกัน การรับคืนหรือเปลี่ยนสินค้า ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งต้องเข้าใจว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้นลูกค้าไม่สามารถเห็นสินค้าจริง เช่น เสื้อผ้า มีโอกาสที่สินค้าจะผิดไซซ์ ไม่พอดีกับตัว การผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น บริการหลังการขายจะเป็นตัวช่วยที่ให้ลูกค้าเกิดความอุ่นใจ มีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ และไม่ลังเลที่จะซื้อ

ด้านผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากบริการหลังการขายสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ควบคู่ไปกับการทำการตลาด เช่น การสอบถามลูกค้าว่าได้รับสินค้าหรือยัง พร้อมให้ถ่ายรูปคู่กับสินค้าพร้อมกับติดแท็กของแบรนด์ผ่าน Facebook และ Instagram โดยมอบส่วนลดเมื่อมีการสั่งซื้อครั้งต่อไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ขยายออกไปในวงกว้าง

  1. ถูกตัดราคาจากคู่แข่ง

ปัญหาการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไม่จบแค่นี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องพบเจอ คือ “การตัดราคาสินค้าจากคู่แข่ง” โดยลูกค้ามักจะนำมาเปรียบเทียบจากหลายๆ แบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งอาจมีการตัดราคาเกิดขึ้นเพื่อแย่งชิงลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจไม่ต้องลดราคาตาม แต่เปลี่ยนเป็นสร้างจุดเด่นของสินค้าขึ้นมา โดยใช้วิธีบอกเล่าที่มาที่ไปของสินค้า วัตถุดิบ กระบวนการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าที่เลือกซื้อไปมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

ที่มา Plearn By Krungsri