เปิด 7 นวัตกรรมการเกษตร เสริมศักยภาพการเกษตรไทย

เปิด 7 นวัตกรรมการเกษตร เสริมศักยภาพการเกษตรไทย

โควิด-19 ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีการเลิกจ้างจากการปิดกิจการมากกว่า 10 ล้านคน ทำให้ การเกษตร กลายเป็นเป้าหมาย หรือ ทางเลือกแรก ที่คนกลับมาตั้งตัวกัน ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศที่มีทรัพย์อยู่ในดิน ในน้ำ เปรียบเหมือนแหล่งผลิตทองคำล้ำค่า อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการ ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้ กับการสร้างธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย และสอดคล้องกับทิศทางกับกระแสของทั่วโลกได้

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ ได้เผยแพร่ข้อมูลน่าสนใจ จากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ให้คำแนะนำว่า มี 7 นวัตกรรมการเกษตรที่จะเร่งพัฒนายกระดับเกษตรกรดั้งเดิม ในการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเกษตรของไทย ประกอบด้วย

1. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาประยุกต์ให้เกิดธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอาหารปลอดภัย ประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน

2. เกษตรดิจิทัล เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องการ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลระดับน้ำที่แปลงนาข้าว โดยเกษตรกรสามารถดูข้อมูลจากที่บ้านได้ผ่านมือถือ เมื่อมีข้อมูลมากเพียงพอก็สามารถทำนายสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น

3. การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ จากเดิมที่คุ้นเคยทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการประมงแบบฟาร์ม ที่มีปัจจัยมากมายยากที่จะควบคุม ทำให้การปลูกพืชแนวตั้งหรือโรงงานปลูกพืชที่มีขนาดใหญ่ เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน เป็นแนวโน้มที่เริ่มเห็นในทั่วโลก

4. เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ แม้ว่าตอนนี้จะมีแรงงานกลับถิ่นฐานและมีคนสนใจทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ต้องมีแนวทางในการดึงดูดให้คนหันมาทำการเกษตร ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงาน สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเกมปลูกผักโดยมีระบบต่างๆ ช่วยสนับสนุน

5. บริการทางธุรกิจเกษตร ในช่วงออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญของชีวิตประจำวันที่ผู้บริโภคเปลี่ยนไปหลังโควิด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซและระบบขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่วยในการส่งสินค้าอาหาร-เกษตรแบบเร่งด่วน

6. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากสินค้าเกษตรเมืองร้อนของไทยมีผิวเปลือกบาง ทำให้ง่ายต่อการเน่าเสียและเก็บรักษายาก ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งสร้างสำหรับธุรกิจนี้ ได้แก่ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็บรักษาความสด โดยที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

7. ธุรกิจ “ไบโอรีไฟนารี” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตร ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอนไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : https://thaipublica.org/ และ https://www.nia.or.th/