“เทกแอ๊กชั่นเร็ว-ขอโทษอย่างจริงใจ” วิธีบริหารงานสไตล์ เพนกวิน อีท ชาบู

“เทกแอ๊กชั่นเร็ว-ขอโทษอย่างจริงใจ” วิธีบริหารงานสไตล์ เพนกวิน อีท ชาบู
“เทกแอ๊กชั่นเร็ว-ขอโทษอย่างจริงใจ” วิธีบริหารงานสไตล์ เพนกวิน อีท ชาบู

“เทกแอ๊กชั่นเร็ว-ขอโทษอย่างจริงใจ” วิธีบริหารงานสไตล์ เพนกวิน อีท ชาบู

จากกรณีข่าวร้านดัง เพนกวิน อีท ชาบู ประกาศปิดร้านทุกสาขา 1 วัน หลังลูกค้าพบเนื้อหมูผิดปกติ (อ่านข่าวก่อนหน้า คลิก) ต้องยอมรับเลยว่า คุณต่อธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน เพนกวิน อีท ชาบู มีการ เทกแอ๊กชั่น หรือ ตอบสนองแก้ไขปัญหาต่อกรณีผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ พาไปย้อนดูจุดเริ่มต้นของร้าน เพนกวิน อีท ชาบู ที่กว่าจะมีวันนี้ได้ บอกเลยว่าผ่านมาหนักเอาการอยู่เหมือนกัน

ย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน มีร้านชาบูเล็กๆ ถือกำเนิดขึ้นโดยสองพี่น้อง คุณต้น-คุณต่อ ที่ทั้งคู่ต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วยความจำเป็น โดยได้ตัดสินใจทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะไม่ได้มีเงินทุนเยอะ อีกทั้งเมื่อลองทำรีเสิร์ชดูแล้ว ตลาดชาบูระดับกลางยังมีช่องว่าง ผู้เล่นในตลาดยังทำอะไรเดิมๆ ทั้งคู่คิดว่าต้องสร้างความต่างให้ตัวเอง ทั้งโลโก้ สไตล์ร้าน หรือชื่อแบรนด์ จึงนำเอาชื่อสัตว์มาตั้ง เพราะแค่ได้ยินครั้งเดียวคนก็จำได้แล้ว

ร้านอาหารหนึ่งร้าน ต้องใช้เงินทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 3-5 ล้านบาท แต่ทั้งคู่ สามารถเปิดร้านสาขาแรกที่สะพานควายด้วยเงินลงทุนเพียง 1 ล้านบาท ได้สำเร็จ แบบไม่น่าเชื่อ สามารถคืนทุนได้ในเดือนที่ 5 และขายดีขึ้นมาทุกเดือน ถึงเริ่มขยายสาขาสอง สาม สี่ ห้า ตามมาเรื่อยๆ

ถึงจะขยายสาขาได้มากมาย แต่การที่ร้านเติบโตและขยายสาขาได้ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค ซึ่ง โควิด-19 ก็เป็นหนึ่งอุปสรรคที่ได้เจอ ซึ่งคุณต่อ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่วิกฤตแรกที่เจอ แต่กว่าจะผ่านมาได้ ก็สาหัสสากรรจ์อยู่เหมือนกัน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ที่ทำให้มีทักษะในการเอาตัวรอด

อาจกล่าวได้ว่า จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจมาหลายปี ทำให้เขาเรียนรู้และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีข่าววันนี้ ที่คุณต่อได้ออกประกาศขอโทษต่อลูกค้าและรับฟังปัญหาอย่างจริงใจ ทั้งรับผิดชอบ โดยให้ลูกค้าไปโรงพยาบาลทำการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติ และรับผิดชอบออกค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดให้แก่ลูกค้า

อีกทั้งสร้างความสบายใจให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการคนอื่น ด้วยการยกเลิกเนื้อหมูสันคอล็อตดังกล่าวในทุกสาขา มีการประสานงานกับนักวิชาการกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบหามูลเหตุของปัญหาดังกล่าว มีการเรียกพนักงานเข้ามาอบรมให้ความรู้ในเรื่องวัตถุดิบก่อนจะนำไปเสิร์ฟให้ลูกค้าในครั้งหน้า รวมถึงปิดร้านทุกสาขาเพื่อทำความสะอาด ป้องกันการเกิดเหตุสุดวิสัยซ้ำ

เรียกว่าเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหาที่รวดเร็วและรอบด้านกรณีหนึ่งเลยทีเดียว