เปิดแนวโน้ม ค่าแรงมนุษย์เงินเดือนในไทย ประจำปี 2564

เปิดแนวโน้ม ค่าแรงมนุษย์เงินเดือนในไทย ประจำปี 2564

แม้ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซาและการซ้ำเติมของโควิด-19 แต่อาจไม่กระทบต่อภาพรวมค่าจ้างในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นแม้ไม่มาก แต่จากข้อมูลที่ระบุถึง เงินเดือนในประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 โดยบริษัทต่างๆ มีภาพรวมคาดการณ์การจัดสรรงบประมาณ เพื่อขึ้นเงินเดือนที่อัตรา 5% จากผลการสำรวจช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หากการสำรวจเชิงลึกชี้ว่าค่ากลางจะอยู่ที่ 3%

ข้อมูลข้างต้น เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ เผยข้อมูลผลการสำรวจอัตราค่าตอบแทนรวมในประเทศไทยประจำปี 2563 (Annual Thailand Total Remuneration Survey (TRS) 2020) โดยเมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทางด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการพนักงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการสำหรับพนักงาน การเกษียณอายุ และการลงทุน

โดยการสำรวจมีบริษัทเข้าร่วมทั้งหมด 577 บริษัทจากในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายนของปีนี้ และได้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เกี่ยวกับสภาพการณ์ตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

คุณพิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา Career Products Business Leader บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน บริษัทต่างๆ มีการตรวจสอบและทบทวนงบประมาณสำหรับการขึ้นเงินเดือนอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดย 2 ใน 5 ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราการขึ้นค่าตอบแทนปี 2563 ที่บริษัทวางแผนไว้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยอัตราการขึ้นเงินเดือนที่ประมาณการไว้นี้เกิดขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ถดถอย โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะลดลง 7.8% ในปี 2563 แม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น 3.5% ในปี 2564 ก็ตาม หากอนาคตก็ยังคงไม่แน่นอน

เพิ่มเงินเดือนต่ำลงครั้งแรกในรอบทศวรรษ

ในขณะที่บริษัทเพียง 22 บริษัทจาก 577 แห่งที่ร่วมการสำรวจครั้งนี้ รายงานว่า ไม่มีการขึ้นเงินเดือนในปี 2563 ค่ากลางของอัตราการขึ้นเงินเดือนของปี 2563 ปรับลดลงอยู่ที่ 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 4.8% จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่อัตราการขึ้นเงินเดือนต่ำกว่า 5% ซึ่งผลกระทบนี้แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม

การขึ้นเงินเดือนในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค ยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต และอุปกรณ์การโลจิสติกส์ มีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม เนื่องจากลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยอุตสาหกรรมไฮเทคนั้นมีอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน (New way of work) ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง จึงทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการหดตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน มีอัตราการขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุดที่ 2.5%

ปี 2564 โบนัสอาจลดลง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโดยรวม โบนัสตามงบประมาณยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.3 เท่าของเงินเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับ 2.2 เท่าของเงินเดือนในปี 2562 โดยอุตสาหกรรมไฮเทคและเคมีภัณฑ์ยังคงมีอัตราสูงสุด โดยมีบริษัทเพียง 5% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจที่ไม่มีการให้โบนัส

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้ 28% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ คาดว่าการจ่ายโบนัสในปี 2564 จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 39% ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องของโบนัสได้ ณ ขณะนี้ และมีบริษัทเพียง 5% ที่คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณสำหรับโบนัสในปี 2564

คุณจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หากพิจารณาในทุกแง่มุม บริษัทต่างๆ ยังคงอยู่ในสถานะของการเฝ้าจับตาและรอคอย โดยเฝ้าติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไปพร้อมทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนของบริษัทในปี 2564 โดยบริษัทส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการจ้างงานในเชิงบวก โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจและงานที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอนในปีนี้ กลับมีธุรกิจที่เพิ่มจำนวนพนักงานมากกว่าธุรกิจที่พยายามลดพนักงาน

ภายในสิ้นปี 2563 บริษัทกว่า 23% ที่ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้จะมีการเพิ่มพนักงานใหม่ โดยมี 19% ที่ระบุถึงแผนการสรรหาพนักงานในปี 2564

ในขณะที่อนาคตยังคงแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน บริษัทต่างมีความกังวลต่องบประมาณทางด้านบุคลากร เมอร์เซอร์สนับสนุนให้บริษัทใช้เวลาและพิจารณาแผนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานแบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น

บริษัทควรใช้โอกาสนี้ทบทวนกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนแบบองค์รวมและมองให้ละเอียดกว่าการจ่ายค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว โดยพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของพนักงานให้พัฒนาทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ และมีสุขภาพกายและใจที่ดี ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อบริษัท และการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท จะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย บนเส้นทางแห่งการฟื้นฟูธุรกิจของบริษัท