ผู้ประกอบการรู้ไว้ 7 สัญญาณบ่งชี้ การบริหารธุรกิจของคุณ กำลังล้มเหลว

ผู้ประกอบการรู้ไว้ 7 สัญญาณบ่งชี้ การบริหารธุรกิจของคุณ กำลังล้มเหลว

ว่ากันว่า การที่ธุรกิจหนึ่งจะถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่การจะรักษาให้เติบโตก้าวหน้าต่อเป็นเรื่องยากกว่า บางคนเดินไปถูกทางก็ดีไป แต่ก็มีไม่น้อยที่เดินเกมผิด กว่าจะรู้ตัว ธุรกิจก็ทำท่าจะร่อแร่แล้ว เพื่อป้องกันการก้าวพลาด เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ ได้แชร์ 7 สัญญาณแห่งความล้มเหลว มาให้เหล่าผู้ประกอบการได้เช็กทำการสำรวจตัวเองกัน ดังนี้

  1. การพึ่งพาทุนจากแหล่งอื่นมากเกินไป การสร้างรากฐานธุรกิจ ด้วยเงินทุนจากแหล่งอื่น หรือระดมทุนจากหุ้นส่วนคนอื่น ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงกังวลอย่างหนึ่ง แม้จะทำให้เกิดการ Startup ดำเนินกิจการได้ง่ายและรวดเร็ว แต่การดำเนินงานของกิจการที่ไม่ได้มาจากตัวธุรกิจหรือเจ้าของ ย่อมนำมาสู่ความเสี่ยงในการบริหารเพราะตัวเจ้าของเองไม่สามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง แถมการดำเนินการสิ่งใดก็เป็นไปอย่างล่าช้า บางครั้งเกิดการติดขัดมีปัญหา ต้องรอปรึกษาหุ้นส่วนที่อาจมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดความเครียดและกดดัน นำมาซึ่งการไปต่อหรือขยายการเติบโตได้ยากนั่นเอง
  2. โตเร็ว มุ่งแต่ขยายกิจการ  ไม่ผิดถ้าคิดจะขยับขยายกิจการที่มีทีท่าว่าไปได้ดี เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต แต่ถ้าการขยับขยายนั้นนำมาซึ่งสิ่งที่เกินความจำเป็น หรือเป็นการขยายที่ไม่มีแผนงานรองรับ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน มุ่งแต่อยากเห็นธุรกิจเติบโต จึงขยับขยายโดยไม่ได้ตระหนักถึงสภาพคล่องของเงินทุนหรือการเงินที่มี ก็มีโอกาสเสี่ยงสูง หากบริหารผิดพลาด
  3. ขาดความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ความชัดเจน ณ ที่นี้หมายถึง แผนงานการดำเนินการ ทิศทางการทำธุรกิจ หรือเป้าหมายที่วางไว้ในการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” เช่น ยังหลงทิศทางอยู่ว่าธุรกิจนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ทำอะไร และจะทำเงินหรือได้รับเงินจากไหน อันเป็นสัญญาณว่าขาดความชัดเจน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเดินเกมธุรกิจ
  4. บัญชีมีปัญหา หากขาดความใส่ใจด้านการทำบัญชี หรือเดินธุรกิจแล้วพบว่าบัญชีกิจการไม่มีความโปร่งใสไปจนถึงติดลบ นั่นคือสัญญาณเตือนว่าธุรกิจที่ดำเนินการอยู่นั้นกำลังมีปัญหา ซึ่งการดำเนินกิจการที่ดี บัญชีต้องตรวจสอบได้ มีความชัดเจนและผ่านผู้ตรวจสอบบัญชีได้ไม่ยากเย็น
  5. แยกผลกำไรกับกระแสเงินสดออกจากกันไม่ได้ โดยผลกำไรคือสิ่งที่คาดว่าจะได้รับในการดำเนินธุรกิจ เป็นรายรับสุทธิที่เกิดขึ้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ แล้ว ซึ่งต่างจากกระแสเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจ เนื่องจากสภาพเงินสด คือการเงินที่มีการใช้จ่ายภายในบริษัท มีทั้งส่วนเงินลงทุนไปจนถึงหนี้สิน หากแยกสองสิ่งออกจากกันไม่ได้ ก็จะประเมินสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินการได้ยาก
  6. จับกลุ่มลูกค้าไม่ได้ ไม่มีกลุ่มคนเป้าหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโฟกัส ทำการตลาดจับคนผิดกลุ่มเป้าหมาย หากคิดว่าทุกคนคือลูกค้า นั่นเท่ากับว่าคิดผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะชอบหรือเหมาะต่อการใช้สินค้าบริการของเรา การจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงจะทำให้เดินเกมธุรกิจได้ง่ายขึ้น ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือคิดแผนธุรกิจทำการตลาดรองรับได้ถูกจุด เกิดการลงทุนที่คุ้มค่ากับกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายอย่างแท้จริง
  7. ไม่ยืดหยุ่นต่อการดำเนินธุรกิจ ในการทำธุรกิจต่างๆ ย่อมมีแผนการดำเนินงานมารองรับทิศทาง รูปแบบไปจนถึงการทำตลาดและสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการดีหากจะดำเนินการตามแผนแบบมีขั้นตอน แต่จะเป็นการดีกว่าที่จะใส่ความยืดหยุ่นลงไปในแผนการดำเนินงาน เพื่อรับมือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามานี้ รวมไปถึงโลกของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึง หากยึดติดกับแผนเดิมโดยไม่ปรับเปลี่ยน ปรับตัวรับทิศทางเศรษฐกิจที่ผันผวนก็ยากจะไปต่อได้อย่างราบรื่น